02 พฤศจิกายน 2567
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในต่างประเทศ เมื่อมีผู้อ้างว่า เจ้าหน้าที่ในหน่วยเลือกตั้งของ บักส์ เคาตี รัฐเพนซิลเวเนีย ลงมือทำลายบัตรลงคะแนนทางจดหมาย ที่ผู้ใช้สิทธิลงคะแนนเลือกอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ อย่างจงใจ จนคลิปถูกแชร์ในวงกว้างและกล่าวหาว่าเป็นหลักฐานการแทรกแซงการเลือกตั้งเพื่อประโยชน์แก่พรรคเดโมแครต
บทสรุป :
- คณะกรรมการเลือกตั้งของบักส์ เคาตี ยืนยันว่าบัตรลงคะแนนทางจดหมายที่อยู่ในคลิปเป็นของปลอม
- นักวิเคราะห์คาดว่าผู้อยู่เบื้องหลังคลิปปลอมน่าจะเป็นกลุ่มเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อจากรัสเซีย เพื่อหวังแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการเลือกตั้งของบักส์ เคาตี ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนของพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน ยืนยันเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2024 ว่า บัตรลงคะแนนทางจดหมายที่อยู่ในคลิปที่ถูกแชร์เป็นของปลอม
เมื่อนำบัตรลงคะแนนทางจดหมายที่ใช้ในบักส์ เคาตี มาเปรียบเทียบกับบัตรลงคะแนนทางจดหมายในวิดีโอที่ถูกแชร์ จะพบความแตกต่างหลายประการ แถบบนซองจดหมายของบัตรลงคะแนนในวิดีโอที่ถูกแชร์จะมีสีเขียวเข้ม ส่วนแถบบนซองจดหมายของบัตรลงคะแนนของจริงจะมีสีเขียวสด ส่วนผิวสัมผัสบนแถบซองจดหมายของบัตรลงคะแนนของปลอมจะมีความมันวาว แต่ผิวสัมผัสบนแถบซองจดหมายของบัตรลงคะแนนของจริงจะมีสัมผัสด้าน
นอกจากนี้ การตรวจสอบไม่พบว่า เจ้าหน้าที่ในหน่วยเลือกตั้งของบักส์ เคาตี ไม่มีใครที่มีคุณลักษณะตรงกับบุคคลที่อยู่ในคลิปวิดีโอที่ถูกแชร์ และการกระทำที่อยู่ในคลิปก็เป็นเรื่องผิดกฎหมาย เนื่องจากรัฐเพนซิลเวเนียห้ามนำบัตรลงคะแนนล่วงหน้าหรือบัตรลงคะแนนทางจดหมายมานับก่อนวันที่ 5 พฤศจิกายน หรือวันเลือกตั้งทั่วไปของสหรัฐฯ
แถลงการณ์ของคณะกรรมการเลือกตั้งของบักส์ เคาตี ชี้แจงว่า การกระทำดังกล่าวคือการบ่อนทำลายความเชื่อถือต่อกระบวนการเลือกตั้งในพื้นที่ และลดทอนคุณค่าของทีมงานที่มุ่งมั่นให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างยุติธรรม
ด้านคณะกรรมการพรรครีพับลิกันในพื้นที่บักส์ เคาตี ก็ยืนยันว่า เนื้อหาในคลิปวิดีโอที่ถูกแชร์เป็นของปลอมเช่นกัน
แหล่งข่าวที่ทำงานให้กับรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ เปิดเผยต่อสำนักข่าว USA Today ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่คลิปวิดีโอที่ถูกแชร์จะเป็นผลงานการแซงแทรกการเลือกตั้งจากประเทศรัสเซีย
ดาร์เรน ลินวิลล์ ศาสตราจารย์ด้านการสื่อสาร มหาวิทยาลัยเคลมสัน สหรัฐอเมริกา เปิดเผยต่อเว็บไซต์ PolitiFact ว่า ผู้อยู่เบื้องหลังคลิปดังกล่าวอาจจะเป็น Storm-1516 กลุ่มเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อเพื่อประโยชน์ของรัฐบาลรัสเซีย ซึ่งมักจะเผยแพร่ข่าวปลอมเกี่ยวกับรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งข่าวแง่ลบเกี่ยวกับการช่วยเหลือรัฐบาลยูเครนในสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงข่าวปลอมเกี่ยวกับ กมลา แฮร์ริส และ ทิม วอลซ์ ในช่วงการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาปี 2024 อีกด้วย
จุดสังเกตคือชายที่อยู่ในคลิปวิดีโอพูดด้วยสำเนียงแอฟริกันตะวันตก ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของกลุ่ม Storm-1516 ที่มักจะเกณฑ์ตัวแสดงที่เป็นผู้อพยพเชื้อสายแอฟริกันในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
นอกจากนี้ บัญชีทาง X ที่ใช้เผยแพร่คลิปเป็นเจ้าแรกอย่าง TheWakeninq ก็เป็นบัญชีที่เชื่อมโยงกับกลุ่ม Storm-1516 เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยเผยแพร่ข่าวข่าวปลอมเรื่องที่ ทิม วอลซ์ ผู้ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของพรรคเดโมแครต ถูกกล่าวหาเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศนักเรียนของตนเอง ซึ่งต่อมาได้รับการยืนยันว่าไม่เป็นความจริง
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.politifact.com/factchecks/2024/oct/25/tweets/video-doesnt-show-an-election-worker-ripping-ballo/
https://leadstories.com/hoax-alert/2024/10/fact-check-video-claiming-to-show-destruction-of-trump-mail-in-ballots-in-bucks-county-pennsylvania-is-fake.html
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter