16 ตุลาคม 2567
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลเท็จเกี่ยวกับเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง (Lab-Grown Meat หรือ Cultured Meat) เผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในต่างประเทศ โดยอ้างว่า มีการศึกษาพบว่า เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงที่พัฒนาโดย บิลล์ เกตส์ ทำให้ผู้บริโภคป่วยเป็นมะเร็งร้ายแรงที่รู้จักในชื่อ Turbo-Cancer
บทสรุป :
- เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงสร้างด้วยการนำเซลล์จากสัตว์มาเพาะเลี้ยงให้เป็นเซลล์อมตะและพัฒนาเป็นเนื้อส่วนต่าง ๆ
- เซลล์อมตะที่ใช้ผลิตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง ไม่ใช่เซลล์มะเร็ง
- โรคมะเร็ง Turbo-Cancer ไม่มีอยู่จริง
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
Turbo-Cancer โรคมะเร็งที่ไม่มีอยู่จริง
Turbo-Cancer ที่ถูกอ้างว่าเป็นมะเร็งร้ายแรงที่ลุกลามได้อย่างรวดเร็วในผู้ฉีดวัคซีนโควิด-19 แท้จริงแล้วคือโรคที่ไม่มีอยู่จริงซึ่งอ้างโดยกลุ่มต่อต้านวัคซีน ซึ่งหน่วยงานสาธารณสุขทั่วโลกยืนยันว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่เพิ่มความเสี่ยงการป่วยเป็นมะเร็ง หรือทำให้มะเร็งกำเริบ
บิลล์ เกตส์ มหาเศรษฐีเหยื่อข่าวปลอม
บิลล์ เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Microsoft ถือเป็นมหาเศรษฐีที่คอยบริจาคเงินเพื่อการกุศลและการวิจัยด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ รวมถึงการสนับสนุนการบริโภคเนื้อสัตว์ทางเลือก จากการลงทุนในบริษัทผลิตเนื้อสัตว์จากพืชและเนื้อสัตว์ที่ผลิตจากเซลล์ในห้องปฏิบัติการ
ข้ออ้างจากเว็บไซต์ข่าวปลอม
จากการตรวจสอบโดย Fact Checker พบว่า ต้นตอข่าวลือเผยแพร่มาจาก People’s Voice เว็บไซต์ซึ่งมีประวัติเผยแพร่ข่าวปลอมอย่างต่อเนื่อง จนต้องเปลี่ยนชื่อเว็บไซต์บ่อยครั้ง
บทความของ People’s Voice อ้างว่า เว็บไซต์ Bloomberg News รายงานข่าวการวิจัยที่พบว่า การบริโภคเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงมีความเสี่ยงป่วยเป็นมะเร็งชนิด Turbo Cancer
อย่างไรก็ดี เนื้อหาใน Bloomberg News ได้อธิบายถึงประเด็นที่เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงเกิดจากการใช้เซลล์อมตะ (Immortalized Cells) ที่ถูกดัดแปลงให้แบ่งตัวได้อย่างไม่จำกัด เพื่อนำเซลล์อมตะที่ได้จากสัตว์มาผลิตเป็นเนื้อสัตว์สำหรับบริโภคโดยไม่ต้องฆ่าสัตว์ แต่กระนั้น เนื้อหาไม่ได้บอกว่าการกินเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงที่ผลิตจากเซลล์อมตะที่แบ่งตัวอย่างไม่จำกัด ทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงป่วยเป็นมะเร็งแต่อย่างใด
เนื้อหาของ Bloomberg News ระบุว่า แม้จะยังไม่มีงานวิจัยด้านผลกระทบของการบริโภคเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงกับความเสี่ยงเป็นมะเร็งในระยะยาว แต่ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่าการกินเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงที่ผลิตจากห้องปฏิบัติการ เพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็ง เนื่องจากเซลล์ที่ใช้นำมาจากเซลล์ของสัตว์ จึงเป็นไปไม่ได้ที่เซลล์ของสัตว์จะแบ่งตัวในร่างกายมนุษย์ หรือทำให้ป่วยเป็นมะเร็งจากการกิน
ข้อมูลจากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) ยืนยันว่า เซลล์อมตะจะหยุดการแบ่งตัวหลังนำออกมาจากเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพที่ใช้ในการเพาะเลี้ยง นอกจากนี้ ความร้อนจากการประกอบอาหารและการย่อยอาหารในร่างกาย ก็ทำให้เซลล์อมตะจากเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงไม่สามารถส่งผลเสียต่อร่างกายของผู้บริโภคเช่นกัน
ข้อมูลอ้างอิง :
https://fullfact.org/health/lab-grown-meat-turbo-cancer/
https://www.politifact.com/factchecks/2024/feb/28/instagram-posts/no-proof-a-study-found-lab-grown-meat-funded-by-bi/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter