11 ตุลาคม 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
บทสรุป :
- เซลล์ที่ใช้ผลิตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง นำมาจากเซลล์ของสัตว์ที่ผ่านกระบวนการทำให้เป็นอมตะ จนสามารถแบ่งตัวได้อย่างไม่จำกัด
- แม้เซลล์มะเร็งจะแบ่งตัวได้อย่างไม่จำกัดเหมือนเซลล์อมตะ แต่มีลักษณะหลายอย่างที่แตกต่างกัน เช่น คาดเดาและควบคุมการแบ่งตัวไม่ได้
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลเท็จเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในสหรัฐอเมริกา ที่อ้างว่าเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง (Lab-Grown Meat หรือ Cultured Meat) ซึ่งได้รับอนุญาตให้จำหน่ายในสหรัฐอเมริกาเป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัย เนื่องจากเป็นเนื้อสังเคราะห์จากห้องปฏิบัติการที่ผลิตจากเซลล์มะเร็ง โดยจะใช้เซลล์มะเร็งของสัตว์ทำการแบ่งตัวได้อย่างไม่จำกัดเพื่อให้ได้ผลผลิตเนื้อในปริมาณมากและรวดเร็ว
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
เมื่อเดือนมิถุนายน 2023 สํานักงานบริการความปลอดภัยและตรวจสอบคุณภาพอาหารของสหรัฐอเมริกา (Food Safety and Inspection Service : FSIS) กระทรวงเกษตรแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (U. S. Department of Agriculture : USDA) ได้ออกใบอนุญาตให้ UPSIDE Foods และ GOOD Meat บริษัทผู้ผลิตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง 2 แห่งในแคลิฟอร์เนีย สามารถผลิตและจำหน่ายเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงในสหรัฐอเมริกาได้เป็นครั้งแรก หลังผ่านการรับรองความปลอดภัยจากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) มาก่อนหน้านี้
กระบวนการผลิตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง
การผลิตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง (Lab-Grown Meat หรือ Cultured Meat) เริ่มจากการนำเซลล์จากเนื้อเยื่อของสัตว์ที่ยังมีชีวิต (Biopsy) มาเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ
ในการผลิตเนื้อไก่เพาะเลี้ยง ผู้ผลิตจะใช้เซลล์ผิวหนังและกล้ามเนื้อของไก่ หรือนำเซลล์มาจากไข่ไก่ที่ผสมพันธุ์แล้วหรือแม้แต่ขนไก่
เซลล์ที่นิยมใช้คือเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cells) เนื่องจากมีความสามารถในการแบ่งตัวและพัฒนาเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่เฉพาะอื่น ๆ ได้
เซลล์ที่ถูกคัดเลือกจะนำไปเพาะเลี้ยงในเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพ ภายในประกอบได้ด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อพัฒนาการของเซลล์ ทั้งกรดอtมิโนและวิตามิน
เมื่อเซลล์เพิ่มจำนวนมากพอ ก็จะเข้าสู่กระบวนการพัฒนาให้กลายเป็นเนื้อประเภทต่าง ๆ เช่น กล้ามเนื้อหรือไขมัน
จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการแปรรูปให้กลายเป็นเนื้อรูปแบบต่าง ๆ เช่น นักเก็ต ไส้กรอก สะเต๊ะ
การสร้างเซลล์อมตะ
ข้อจำกัดในการผลิตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง คือข้อจำกัดของเซลล์ในการแบ่งตัว เมื่อเซลล์แบ่งตัวไปได้ระยะหนึ่ง เซลล์จะเข้าสู่สภาวะเสื่อมสภาพ (Cellular Senescence) จนไม่สามารถแบ่งตัวได้อีก
ผู้ผลิตจึงแก้ปัญหาด้วยการทำให้เซลล์เหล่านั้นอยู่ในสภาพอมตะ (Immortalization) ด้วยการดัดแปลงพันธุกรรมของเซลล์จนสามารถแบ่งตัวอย่างไม่จำกัด
วงการวิทยาศาสตร์พัฒนาเซลล์อมตะเพื่อการวิจัยทางการแพทย์มานานหลายทศวรรษ จุดประสงค์เพื่อศึกษาการทำงานของยีนและโปรตีน เพื่อใช้ทดลองยาและวัคซีนหลาย ๆ ชนิด
Upside Foods และ GOOD Meat มีกระบวนการสร้างเซลล์อมตะที่แตกต่างกัน
Upside Foods ใช้วิธีการยับยั้งการสั้นลงของเทโลเมียร์ (Telomere) ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนปลายของโครโมโซมในเซลล์ หน้าที่ป้องกันการชำรุดของโครโมโซม โดยความยาวของเทโลเมียร์บ่งบอกอายุของเซลล์ เซลล์ที่เสื่อมสภาพจะมีเทโลเมียร์ที่สั้นและทำให้เซลล์แบ่งตัวอย่างจำกัด ส่วนเซลล์ที่เยาว์วัยจะมีเทโลเมียร์ที่ยาวและสามารถแบ่งตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
GOOD Meat ใช้การคัดเลือกเซลล์ที่มีอัตราการแบ่งตัวที่สูงเพื่อนำมาเพาะเลี้ยงสำหรับการผลิตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงโดยเฉพาะ
เซลล์อมตะ ≠ เซลล์มะเร็ง
แม้เซลล์มะเร็งจะมีความสามารถแบ่งตัวได้อย่างไม่จำกัดเช่นเดียวกัน แต่เซลล์มะเร็งมีลักษณะหลายอย่างที่แตกต่างจากเซลล์ธรรมดาที่ถูกสร้างให้เป็นอมตะ เนื่องจากเซลล์มะเร็งมีการแบ่งตัวที่ไม่สามารถคาดเดาได้และไม่สามารถควบคุมได้
นอกจากนี้เซลล์มะเร็งยังสามารถลุกลามเข้าไปยังเนื้อเยื่อรอบข้างและแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ รวมถึงสามารถกระตุ้นการสร้างหลอดเลือดเพื่อลำเลียงออกซิเจนและอาหารเพื่อไปเลี้ยงเซลล์มะเร็งได้ด้วย ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ไม่พบในเซลล์ธรรมดาที่ถูกสร้างให้เป็นอมตะ
โจ รีเจนสไตน์ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร มหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา อธิบายว่า เซลล์อมตะมีคุณลักษณะแตกต่างจากเซลล์มะเร็งโดยสิ้นเชิง เนื่องจากเป็นเซลล์ที่สามารถควบคุมได้ง่ายและคาดเดาได้ง่าย
โอกาสเป็นมะเร็งจากการกินเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงมีน้อยมาก
รายงานการตรวจสอบความปลอดภัยอาหารที่ผลิตจากเซลล์ (Cell-Based Food) โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เผยแพร่ในปี 2023 ระบุว่าโอกาสที่เซลล์อมตะที่อยู่ในเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงจะยังมีชีวิตอยู่และเข้าไปแบ่งตัวในร่างกายมนุษย์มีน้อยมาก ๆ (Extremely Low) เนื่องจากเซลล์ในอาหารต่างผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนก่อนนำมาบริโภค ตั้งแต่การเพาะเลี้ยงในเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพเป็นเวลานาน กระบวนการแปรรูปเป็นอาหาร การจัดเก็บในภาวะเยือกแข็ง และความร้อนจากการทำอาหาร จากนั้นยังต้องผ่านกระบวนการย่อยอาหารในร่างกาย ซึ่งโอกาสที่จะผ่านผนังลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด หลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกัน แล้วทำการแบ่งตัวในร่างกายของมนุษย์แทบจะเป็นไปไม่ได้
แถลงการณ์ของ Upside Foods และ GOOD Meat ยืนยันว่าเซลล์อมตะที่ใช้ผลิตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ พร้อมย้ำว่าเอกสารด้านกระบวนการผลิตและข้อมูลด้านความปลอดภัยสามารถตรวจสอบได้ทางเว็บไซต์ขององค์การอาหารและยาแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (FDA)
ข้อมูลอ้างอิง :
https://healthfeedback.org/claimreview/lab-grown-meat-isnt-made-of-cancerous-cells/
https://apnews.com/article/fact-check-lab-meat-cancer-animal-cells-449786524119
https://sentientmedia.org/lab-grown-meat/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter