กรุงเทพฯ 1 ต.ค. – กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดงานครบรอบ 52 ปีวันคล้ายวันสถาปนา เดินหน้าใช้กลไกสหกรณ์ขับเคลื่อนนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิกสหกรณ์” ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนตั้งเป้าหมายแก้หนี้สินสมาชิกสหกรณ์ ให้ได้อย่างน้อย 25% ของหนี้ NPL
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีถวายพานพุ่มสักการะพระอนุสาวรีย์ พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย รวมถึงพิธีทำบุญ4 ถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ 10 รูป
อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์อ่านสารของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากนั้นมอบนโยบายการปฏิบัติงานแก่บุคลากรของกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยกล่าวว่า กรมจะขับเคลื่อนนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิกสหกรณ์” ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ
สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2568 กรมมุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพของกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ภาคการเกษตรให้เข้มแข็ง โดยใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยี ทำระบบการเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision Agriculture) ฟาร์มเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture) ในพื้นที่การเกษตรแบบแปลงใหญ่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ให้ได้ปริมาณผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น พัฒนาให้ผลผลิตมีคุณภาพและความปลอดภัย ตลอดจนส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิต นอกจากนี้จะส่งเสริมและพัฒนาร้านค้าสหกรณ์ให้เป็นจุดจำหน่ายสินค้าเกษตรทั้งทางตรงและช่องทางออนไลน์ให้มีความเข้มแข็ง ผลักดันการเชื่อมโยงเครือข่ายร่วมกันระหว่างสหกรณ์ภาคการเกษตรและสหกรณ์นอกภาคเกษตร กรมฯ ยังมุ่งมั่นที่จะพัฒนาบุคลากรของกรมส่งเสริมสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็งเพื่อทำหน้าที่ยกระดับความเป็นอยู่ของสมาชิกสหกรณ์ให้ดีขึ้นอีกด้วย
อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวย้ำถึงอีกมาตรการสำคัญที่จะเร่งขับเคลื่อนคือ การแก้ปัญหาหนี้สินสมาชิกสหกรณ์ โดยตั้งเป้าหมายไว้ให้ได้อย่างน้อย 25% ของหนี้ NPL ทั้งยังมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมปริมาณธุรกิจของสหกรณ์ในภาพรวมให้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 นอกจากนี้ ยังต้องฟื้นฟูสหกรณ์ที่ขาดทุนสะสม ให้มีกำไรร้อยละ 25 ทั้งยังจะพัฒนาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งชั้น 1 ชั้น 2 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 2
กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2515 เป็นหน่วยงานสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน แนะนำ กำกับ และดูแลระบบสหกรณ์ของประเทศไทย ภายใต้วิสัยทัศน์ “การสหกรณ์มั่นคง สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเข้มแข็ง เศรษฐกิจและสังคมของชุมชนยั่งยืน”
ปัจจุบันประเทศไทยมีสหกรณ์ 7 ประเภทได้แก่ สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์นิคม สหกรณ์ประมง สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์บริการ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนและสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยสหกรณ์เป็นหนึ่งในสถาบันเกษตรกรที่มีบทบาทในการพัฒนาศักยภาพของสมาชิก สร้างความเข้มแข็งทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของบุคลากรกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่จะต้องเข้าไปขับเคลื่อน ผลักดัน สร้างความรู้แก่สหกรณ์ ทั้งด้านการผลิต การบริหาร การและตลาดและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อพัฒนาศักยภาพสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็งให้เป็นองค์กรที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาให้มวลสมาชิกและพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างแท้จริง. -512 – สำนักข่าวไทย