ชัวร์ก่อนแชร์ : น้ำตาเทียม ใช้มากส่งผลให้ “ไตวาย ไตเสื่อม” จริงหรือ ?

บนสื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์ข้อความว่า “น้ำตาเทียม” เมื่อใช้นาน ๆ อาจทำให้ “ไตวาย ไตเสื่อม” ได้ เรื่องนี้จริงหรือ ?


🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ศาสตราจารย์วุฒิคุณ นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ ประธานวิชาการ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย

โดยปกติแล้วคนเรามี “น้ำตา” ทำหน้าที่ให้ออกซิเจนและความชุ่มชื้นแก่กระจกตาและเยื่อบุตา ช่วยปรับสภาพของกระจกตาให้มีความเรียบเพื่อการมองเห็นที่ชัดเจน และช่วยป้องกันการติดเชื้อและขจัดของเสียออกจากกระจกตา


เมื่อใดก็ตามที่น้ำหล่อเลี้ยงกระจกตาระเหยไป หรือร่างกายผลิตน้ำตาธรรมชาติไม่เพียงพอที่จะใช้ในการหล่อเลี้ยงกระจกตาและเยื่อบุตา จะทำให้เกิดอาการตาแห้ง ตาแดง ระคายเคืองตา แสบตา และตาพร่า ซึ่งเป็นสาเหตุให้ต้องใช้ “น้ำตาเทียม” เพื่อช่วยหล่อเลี้ยงและให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา

“น้ำตาเทียม” คือยาหยอดตารูปแบบหนึ่ง ผลิตจากสารสังเคราะห์คล้ายน้ำตาธรรมชาติเพื่อทดแทนน้ำตาธรรมชาติ ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นหรือหล่อลื่นดวงตา ใช้สำหรับบรรเทาอาการตาแห้ง

น้ำตาเทียม ทำให้ไตวาย ไตเสื่อม จริงหรือ ?


เรื่องนี้ไม่จริง ยังไม่พบผู้ป่วยไตเสื่อม ไตวาย จากการใช้น้ำตาเทียมที่ผลิตจากสารที่มีส่วนประกอบคล้ายกับน้ำตาธรรมชาติของคนเรา

น้ำตาธรรมชาติแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ น้ำตาพื้นฐาน น้ำตาจากสิ่งเร้าภายนอก น้ำตาจากอารมณ์

1. น้ำตาพื้นฐาน (Basal tears) คือน้ำที่ฉาบลูกตาอยู่ตลอดเวลา สร้างจากเซลล์ที่อยู่รอบ ๆ เยื่อบุตาขาว ช่วยสร้างความหล่อลื่น บำรุงและปกป้องกระจกตา ทั้งยังเป็นเกราะป้องกันดวงตาจากฝุ่นผงต่าง ๆ

2. น้ำตาจากสิ่งเร้าภายนอก (Reflex tears) เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อสิ่งระคายเคือง เช่น ควัน ลม ฝุ่น รวมถึงสารบางชนิดเวลาหั่นหัวหอมมีน้ำตาไหลออกมา

3. น้ำตาจากอารมณ์ (Emotional tears) น้ำตาที่ไหลออกมาตอบสนองต่ออารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ เช่น เสียใจ ดีใจ หวาดกลัว

ปัจจุบัน คนมีปัญหาน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาแห้ง หรือภาวะ “ตาแห้ง” (Dry eye) การใช้น้ำตาเทียมจึงเพิ่มมากขึ้น เพราะเมื่อใช้น้ำตาเทียมหยอดตาแล้วรู้สึกสบายตาและลดอาการตาแห้งได้

น้ำตาเทียมทาผิวหนังทดสอบการดูดซึม และเคาะไตเพื่อประเมินการทำงานของไต เรื่องนี้จริงหรือ ?

กรณีที่อ้างถึงวิธีการทดสอบน้ำตาเทียมว่าทำให้เกิดไตอักเสบโดยการเคาะไตนั้น ตามมาตรฐานการแพทย์สาขาวิชาโรคไต อายุรแพทย์จะใช้วิธีการเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ เพื่อประเมินการทำงานของไต ซึ่งยังไม่เคยพบว่าอายุรแพทย์โรคไตวินิจฉัยโรคด้วยการเคาะไต ดังนั้นถ้าสงสัยว่าเป็นโรคไตควรไปสถานพยาบาลเพื่อตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ย่อมจะดีกว่าถูกเคาะไต

นอกจากนี้ สิ่งที่แชร์กันมีการนำน้ำตาเทียมทาผิวหนังบริเวณแขน 5 นาที ซึ่งเป็นวิธีการทดสอบที่ไม่เป็นมาตรฐานสากลเนื่องจากการดูดซึมยาที่บริเวณดวงตากับที่ผิวหนังแตกต่างกัน การทดสอบดังกล่าวจึงขาดความน่าเชื่อถือ และน้ำตาเทียมผลิตขึ้นมาเพื่ออวัยวะบริเวณดวงตาที่มีระบบการดูดซึมแตกต่างจากยาทาผิวหนังชนิดอื่น

ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการที่น่าเชื่อถือได้ว่าน้ำตาเทียม (รูปแบบที่มีสารกันบูดและไม่มีสารกันบูด) มีผลทำให้เกิดภาวะไตวาย-ไตเสื่อม ส่วนใหญ่แล้วผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจะเป็นแบบเฉพาะที่ (เช่น ระคายเคือง คันตา) เพราะน้ำตาเทียมนั้นจัดอยู่ในกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์แบบเฉพาะที่

การใช้น้ำตาเทียมกับอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย

โดยทั่วไป น้ำตาเทียม 1 หยด มีปริมาณ 50 ไมโครลิตร จะสังเกตได้ว่าเมื่อหยอดน้ำตาเทียมแล้ว น้ำตาเทียมจะอยู่บริเวณอุ้งลูกตาด้านในประมาณ 15-20 ไมโครลิตร และอีกประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์จะไหลออกนอกลูกตา เพราะฉะนั้นโอกาสที่น้ำตาเทียมจะเข้าสู่ร่างกายจึงมีปริมาณน้อยอยู่แล้ว

หลังจากหยอดน้ำตาเทียมแล้ว ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของน้ำตาเทียมจะระบายออกทางท่อน้ำตาที่อยู่บริเวณหัวตาทั้ง 2 ข้าง ไหลลงไปที่จมูก

บางครั้งจะสังเกตเห็นว่าหลังหยอดน้ำตาเทียมแล้วจะมีน้ำมูกไหล หรือรู้สึกมีอาการขมบริเวณคอ ซึ่งในส่วนนี้มีปริมาณน้อยมาก

ถ้าองค์ประกอบของน้ำตาเทียมไม่ได้เป็นสารอันตรายก็จะไม่เกิดผลต่อระบบร่างกายแต่อย่างใด

น้ำตาเทียมบางส่วนอาจจะหมุนเวียนเข้าสู่กระแสเลือดได้ (ในปริมาณที่น้อยมาก) เพราะน้ำตาเทียมผ่านการดูดซึมบริเวณเยื่อบุด้านในของจมูกและกลับเข้าสู่กระแสเลือดได้ แต่การที่จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อระบบร่างกายของคนเราได้นั้น หมายถึงสารพิษมีปริมาณค่อนข้างมากและต่อเนื่อง

กรณีน้ำตาเทียมซึ่งเป็นสารที่พยายามทำเลียนแบบธรรมชาติซึ่งมีปริมาณน้อยมากที่อยู่บริเวณดวงตาและดูดซึมเข้าสู่ระบบร่างกาย ไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายหรือไตอย่างที่เป็นข่าว

“น้ำตาเทียม” ถือว่าเป็นยาหยอดตาที่ค่อนข้างปลอดภัย พบคนที่แพ้น้อยกว่ายาหยอดตาชนิดอื่น เช่น ยาปฏิชีวนะ หรือยาลดความดันตา ซึ่งเป็นสารเคมีที่ออกฤทธิ์ต่อระบบร่างกาย

ถ้ามีโรคประจำตัวจะต้องบอกจักษุแพทย์ เพราะโรคประจำตัวบางโรคไม่สามารถใช้ยาหยอดตาบางตัวได้

มีหลายวิธีช่วยลดปัญหาตาแห้ง ?

ปัจจุบัน คนมีปัญหาเรื่อง “ตาแห้ง” มากขึ้น ทั้งคนวัยทำงานและผู้สูงอายุ มีข้อแนะนำดังนี้

1. ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เป็นความเสี่ยงทำให้ตาแห้ง ที่พบได้บ่อยคือการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์และหน้าจอโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน ทำให้อัตราการกะพริบตาตามธรรมชาติของคนเราซึ่งควรอยู่ที่ประมาณ 8-12 ครั้งต่อนาทีลดลง ทำให้น้ำหล่อเลี้ยงลูกตา (อยู่ด้านบนของเปลือกตาด้านใน) ซึ่งจะต้องกะพริบลงมาทำความสะอาดกระจกตาและฉาบอยู่ลดน้อยลง

2. ถ้าทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ดูโทรศัพท์มือถือ หรือจ้องจอโทรทัศน์ แนะนำว่าควรจะต้องกะพริบตาบ่อย ๆ อย่างน้อย 8-12 ครั้งต่อนาที และจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม ไม่ควรนั่งอยู่บริเวณที่มีลมธรรมชาติ ลมจากพัดลม หรือลมจากเครื่องปรับอากาศตกใส่บริเวณดวงตา

3. ตำแหน่งการวางจอคอมพิวเตอร์ ถ้ามีการวางจอคอมพิวเตอร์สูงกว่าระดับสายตา จึงต้องเปิดลูกตาและเปลือกตามากขึ้น ทำให้เกิดการระเหยของน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาได้มาก แต่การวางจอคอมพิวเตอร์มุมที่ต่ำลงจะช่วยลดอาการตาแห้งลงได้

นอกจากนั้น บางคนอาจเกิดอาการตาแห้งจากผลข้างเคียงของยา เช่น คนที่กินยาแก้แพ้ หรือหยอดยาแก้แพ้บางชนิด ยาลดความดันเลือดสูงบางชนิด หรือยาต้านซึมเศร้า ก็อาจจะมีผลข้างเคียง ใครที่ใช้ยาอะไรเป็นประจำแล้วรู้สึกมีอาการเคืองตา ตาฝืด ตาแห้ง ก็ควรปรึกษาแพทย์ที่ให้ยาว่าใช่ผลข้างเคียงของยาหรือไม่

หลังจากแก้ปัญหาที่ต้นเหตุแล้ว สิ่งที่จะช่วยชดเชยน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาตามธรรมชาติได้ก็คือน้ำตาเทียม

ชนิดของน้ำตาเทียม

“น้ำตาเทียม” โดยทั่วไปมี 2 ชนิดตามรูปแบบการใช้งานตามบรรจุภัณฑ์ คือ ชนิดขวด (น้ำตาเทียมแบบรายเดือน) ชนิดหลอด (น้ำตาเทียมแบบรายวัน)

1. น้ำตาเทียมแบบรายเดือน (multiple-dose) มีลักษณะพิเศษคือ 1 ขวดสามารถใช้ได้ประมาณ 1 เดือน ที่อยู่ได้นานเพราะในขวดมีสารกันแบคทีเรียเติบโต เรียกง่าย ๆ ว่าสารกันบูด (preservatives) ข้อจำกัดของสารกันบูดที่ทำให้ยานี้อยู่ได้เป็นเดือนก็คือตัวสารนี่แหละที่อาจจะระคายเคืองตาได้ถ้ามีการหยอดบ่อยเกินไป โดยทั่วไปแนะนำให้หยอดวันละไม่เกิน 4 ครั้ง

2. น้ำตาเทียมแบบรายวัน (single-dose) น้ำตาเทียมชนิดนี้บรรจุในหลอดขนาดเล็ก ควรเปิดใช้ให้หมดแบบวันต่อวัน นั่นคือประมาณ 24 ชั่วโมงหลังจากเปิดใช้ครั้งแรก เพราะเป็นน้ำตาเทียมบริสุทธิ์ปราศจากสารกันบูด (preservative-free) เหมาะกับผู้ที่แพ้สารกันบูด และน้ำตาเทียมชนิดนี้สามารถหยอดวันละหลายครั้งได้

ปัญหาเรื่องตาแห้ง สิ่งที่จะต้องจัดการก่อนคือ มองหาปัจจัยเสี่ยง เช่น ยาที่กิน โรคประจำตัวบางชนิด ที่คุณหมอบอกว่าอาจจะทำให้ตาแห้งได้ เช่น โรคข้อบางชนิด โรคภูมิคุ้มกันตัวเองบางชนิด หรือคนที่กำลังได้รับเคมีบำบัด ก็จะมีผลทำให้น้ำหล่อเลี้ยงลูกตาแห้งช่วงนั้นได้ รวมถึงการปรับพฤติกรรมแล้ว สามารถทำให้อาการตาแห้งดีขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำตาเทียม

ปัจจุบัน บนสื่อสังคมออนไลน์มีข้อมูลมากมายแต่ควรรับฟังอย่างมีวิจารณญาณ เนื่องจากมีการทดสอบที่ไม่ได้มาตรฐานหลายเรื่อง

การทดสอบที่ไม่ได้มาตรฐานและการเผยแพร่ข้อมูลที่อาจจะสร้างความสับสนและหวาดวิตกให้กับประชาชนที่ได้รับข่าวสาร ควรรอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (เช่น แพทยสภา ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย) ได้ตรวจสอบข้อมูลวิชาการที่ถูกต้องและเชื่อถือได้

สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์

เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล

ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ยึดรถบอสดิไคอน

ตำรวจยึดรถ “บอสพอล-บอสกันต์” เพิ่มเติมรวม 4 คัน

ตำรวจยึดรถ “บอสพอล-บอสกันต์” เพิ่มเติมรวม 4 คัน ขณะที่พนักงานสอบสวนชุดเล็กประชุมสรุปรายงานผลการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เตรียมรายงานคณะทำงานชุดใหญ่พรุ่งนี้

ระเบิดสะพานโจร

“ระเบิดสะพานโจร” ทำลายสายส่งเคเบิลขนาดใหญ่ ลักลอบพาดสายบนสะพานข้ามโขง

กสทช. จับมือตำรวจ สานต่อยุทธการ “ระเบิดสะพานโจร” ทำลายสายส่งเคเบิลขนาดใหญ่ ลักลอบพาดสายบนสะพานข้ามโขง อย่างอุกอาจ เอื้อแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ว.วชิรเมธี

พระพยอมชี้ ท่าน ว.วชิรเมธี นั่งบนหิมะ ไม่ผิดวินัยสงฆ์

เพจดังลงภาพท่าน ว.วชิรเมธี นั่งสมาธิบนหิมะที่ญี่ปุ่น ด้านพระพยอมชี้ ไม่ผิดวินัยสงฆ์ คิดว่าท่าน ว.วชิรเมธี คงอยากทดสอบความอดทน

ข่าวแนะนำ

ต่างชาติประทับใจซ้อมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

วันนี้มีการซ้อมใหญ่เสมือนจริง ครั้งที่ 2 ขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งไม่เพียงแต่คนไทย นักท่องเที่ยวต่างชาติก็ประทับใจกับความงดงาม

“พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ” ยันไม่ปล่อยผ่านคดีตากใบ เร่งตามผู้ต้องหาก่อนหมดอายุความ

ผบ.ตร.เผยคดีตากใบ เร่งติดตามตัวผู้ต้องหาก่อนหมดอายุความ เข้าตรวจค้น 29 ครั้ง เฝ้าจุดระวังติดตามกว่า 180 ครั้ง ยันไม่ปล่อยผ่าน