กรมศุลกากร 9 ส.ค. – กรมศุลกากรจับมือกรมสรรพากร เชื่อมโยงใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ ตรวจสอบคืนภาษีผ่านออนไลน์ ป้องกันใบเสร็จปลอม สรรพากรยอมรับ TEMU ยังไม่เข้าข่ายเก็บภาษี VAT นำเข้า
นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร และนางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร ลงนามบันทึกข้อตกลง เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลตามใบเสร็จรับเงิน กศก. 123 ระหว่าง กรมศุลกากร กับกรมสรรพากร เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ และช่วยการบริหารจัดเก็บภาษีอากรตามนโยบายรัฐบาล ด้านการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) ลดการใช้เงินสดและเช็ค ปัจจุบันรับชำระค่าภาษีอากร ค่าธรรมเนียม รายได้อื่น หรือเงินประกัน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เฉลี่ยร้อยละ 80 ของยอดชำระเงินทุกประเภท โดยวิธีตัดบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้ประกอบการ หรือ Direct Debit และการชำระค่าภาษีอากรฯ ผ่านช่องทางการให้บริการของธนาคารหรือตัวแทนรับชำระ หรือ Bill Payment สามารถพิมพ์ใบเสร็จรับเงิน กศก. 123 จากระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมศุลกากรได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องเดินทางมาที่กรมศุลกากร ที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้พิมพ์ใบเสร็จรับเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เฉลี่ย 3 ล้านฉบับต่อปี ความร่วมมือครั้งนี้เพื่อให้กรมสรรพากรนำข้อมูลไปใช้ในการตรวจสอบภาษี และไม่ต้องเรียกใบเสร็จรับเงินจากผู้ประกอบการอันเป็นการอำนวยความสะดวก ในการบริหารจัดเก็บภาษีอากร เริ่มเชื่อมโยงข้อมูลตั้งแต่ 15 สิงหาคมนี้
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดแผยว่า ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสามารถนำใบเสร็จรับเงิน กศก.123 ตามที่กรมศุลกากรออกให้จากระบบอิเล็กทรอนิกส์มาถือเป็นใบกำกับภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อความความสะดวกและลดภาระแก่ผู้ประกอบการ เริ่มเปิดใช้ระบบงานประมาณเดือนตุลาคม 2567 เมื่อนำใบเสร็จ vat จากการนำเข้าทั้งหมด มายื่นหักภาษีซื้อ ป้องกันการยื่นภาษีปลอม การทำใบเสร็จปลอมได้มากขึ้น และยังอำนวยความสะดวกการทำงานได้มากขึ้น เมื่อเห็นข้อมูลแล้วไม่ต้องเรียกเอกสารเพิ่มเติม
อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรได้ส่งอีเมลสอบถามแนวทางจัดเก็บภาษีจากไทย ยอมรับแพลตฟอร์ม TEMU ยังไม่เข้าข่ายจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าสินค้า เพราะการจัดเก็บภาษีจะเกิดขึ้นได้ เมื่อพ่อค้า แม่ค้ารายย่อยของไทยเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มของ TEMU และนำสินค้าที่จำหน่ายส่งเข้ามายังไทย แต่ขณะนี้เป็นการซื้อสินค้าของคนไทยกับเอกชนจีนโดยตรง จึงยังไม่เข้าข่ายในการจัดเก็บภาษีบริการแพลตฟอร์ม กรมสรรพากรยังย้ำว่า ร้านค้าที่ต้องการลงทะเบียนร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไม่ต้องกังวล เนื่องจากกรมสรรพากรไม่ได้นำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ตรวจสอบการเสียภาษี โดยปฏิบัติตามขั้นตอนปกติ เกี่ยวกับการมีรายได้ของบุคคลธรรมดา และผู้ประกอบการทั่วไป ไม่เกี่ยวกับโครงการโอนเงินดิจิทัลของรัฐ.- 515- สำนักข่าวไทย