บนสื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์ข่าวชายชาวต่างชาติเกือบตาบอด เพราะขยี้ตาบ่อยตั้งแต่เด็ก ทำให้ต้องพบจักษุแพทย์ และต้องผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา จริงหรือ ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ศาสตราจารย์วุฒิคุณ นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ ประธานวิชาการ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย
เป็นไปได้… เพราะดวงตาเป็นอวัยวะที่มีความบอบบาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณกระจกตาดำ ที่มองเห็นเป็นตาดำ มีลักษณะเฉพาะที่มีความบอบบาง และสำคัญกับการทำงานของดวงตามาก
เพราะฉะนั้นการที่ถูกกระทำหรือถูกขยี้อย่างรุนแรงและต่อเนื่อง นอกจากจะทำให้เกิดการถลอกหรือเกิดบาดแผลบริเวณกระจกตาดำ ในระยะยาวยังทำให้ความแข็งแรงของบริเวณกระจกตาดำเสียไป เกิดภาวะที่ทางการแพทย์เรียกว่า “กระจกตาย้วย” ทางการแพทย์เรียกว่าโรคเคอราโทโคนัส (Keratoconus) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนไทย
ลักษณะของโรคกระจกตาย้วย
ภาวะกระจกตาย้วยเกิดจากการสูญเสียความแข็งแรงของบริเวณกระจกตาดำ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของกระจกตา มีลักษณะย้วยลงมามากกว่าปกติ เรียกโรคนี้ว่า “กระจกตาย้วย”
สำหรับกลุ่มคนที่มีความเสี่ยง “กระจกตาย้วย” ได้แก่
1. คนที่ขยี้ตาบ่อย ๆ ความแข็งแรงของกระจกตาเสียไป ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของกระจกตา อาจเป็นคนที่กระจกตาอักเสบ หรือเป็นภูมิแพ้บริเวณเยื่อบุตา ก็ทำให้เกิดอาการคันและมีพฤติกรรมขยี้ตารุนแรงเป็นประจำ
2. กลุ่มคนที่มีความผิดปกติของยีน (ดาวน์ซินโดรม : Down syndrome) หรือกลุ่มคนอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงเสียความแข็งแรงของกระจกตาดำ ร่วมกับการขยี้ตาก็อาจจะทำให้เกิดภาวะกระจกตาย้วยได้
สังเกตอาการอย่างไรว่ามีภาวะกระจกตาย้วย
โดยทั่วไป สังเกตได้ว่าเริ่มมีภาวะกระจกตาย้วยแล้ว คือมีการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตาค่อนข้างเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตาเอียงมากขึ้น เช่น อาจจะมีค่าสายตาเอียงเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 75-100 ขึ้นไป จำเป็นต้องไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด ว่าเริ่มมีภาวะกระจกตาย้วยหรือไม่
กระจกตาย้วยอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ “ตาบอด” ได้
แนวทางการรักษา ถ้าสงสัยตั้งแต่ต้นว่าเริ่มมีอาการหรือค่าสายตาเปลี่ยนค่อนข้างเร็ว โดยเฉพาะสายตาเอียง ต้องรีบไปพบจักษุแพทย์ อาจรักษาโดยการใช้ตัวคอนแทคเลนส์กดหรือเครื่องเลเซอร์บางชนิดที่สามารถสร้างความแข็งแรงของกระจกตาและรักษาภาวะกระจกตาย้วยนั้นได้
ถ้าหากไปรับการรักษาหรือไปตรวจกับจักษุแพทย์ช้า และมีอาการรุนแรง การรักษามีวิธีเดียวที่จะทำได้ก็คือการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาจากผู้บริจาค ผลการรักษาก็ไม่ดีมากและมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะตาบอดตามมาได้
การปลูกถ่ายกระจกตา สามารถแก้ปัญหากระจกตาย้วยและตาบอดได้ตลอดชีวิตหรือไม่
กรณีในข่าวที่แชร์กัน เด็กขยี้ตาอย่างรุนแรงบ่อย ๆ อาจจะทำให้เกิดภาวะกระจกตาย้วยได้ จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการปลูกถ่ายกระจกตาใหม่ ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่มีความสลับซับซ้อน และการรักษาจำเป็นต้องได้รับการติดตามอย่างต่อเนื่องไปตลอดชีวิตของผู้ป่วย
นอกจากนี้ การขยี้ตาบ่อย ๆ ทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้ เพราะการขยี้ตาอย่างรุนแรงจะทำให้เกิดภาวะกระจกตาย้วย กรณีการขยี้ตาอย่างรุนแรงอาจทำให้เกิดปัญหา ณ เดี๋ยวนั้นเลยก็ได้ คือ กระจกตาถลอก กระจกตาเป็นแผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่สงสัยว่ามีลมพัดฝุ่นปลิวเข้าตา ต้องหลีกเลี่ยงการขยี้ตา และหยุดยืนนิ่ง ๆ สักครู่ กะพริบตาบ่อย ๆ จะทำให้มีน้ำตาออกมาช่วยล้างสิ่งแปลกปลอมออกไปได้
สรุปว่า ข่าวการขยี้ตาอย่างรุนแรงอาจทำให้ตาบอดได้ เป็นเรื่องจริง สามารถแชร์ต่อเพื่อเตือนให้ทุกคนระมัดระวังอันตรายที่จะเกิดขึ้น
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ : ขยี้ตาบ่อย เสี่ยงตาบอด จริงหรือ ?
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter