ก.พาณิชย์จับมือเอสเอ็มอีแบงก์ให้สินเชื่อธุรกิจแฟรนไชส์

กระทรวงพาณิชย์ 13 ส.ค.-กระทรวงพาณิชย์จับมือเอสเอ็มอีแบงก์ปล่อยสินเชื่อธุรกิจแฟรนไชส์โดยใช้กิจการเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน


นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้หารือกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME BANK ในการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้สนใจลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ที่อยู่ในการส่งเสริมและพัฒนาจากกระทรวงพาณิชย์ โดยใช้กิจการที่ได้ซื้อแฟรนไชส์มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งแฟรนไชส์นับเป็นธุรกิจแรกที่จะใช้หลักประกันทางธุรกิจประเภทกิจการมาค้ำประกันสินเชื่อตามพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 ในเบื้องต้น SME BANK จะกำหนดมาตรการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบธุรกิจที่สนใจลงทุนกับธุรกิจแฟรนไชส์ที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจากกระทรวงพาณิชย์ และมีค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท โดยประเมินว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีมูลค่าเกินกว่า 1 ล้านบาท มักจะมีแผนธุรกิจที่ชัดเจน และได้ดำเนินธุรกิจมาแล้วเป็นอย่างดี ทำให้โอกาสที่จะประสบความสำเร็จมีมาก ขณะที่ธุรกิจแฟรนไชส์เองก็เป็นธุรกิจที่มีความสะดวกและง่ายต่อการเริ่มต้นธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ มีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนด้วยตนเอง และที่สำคัญคือมีแฟรนไชส์ซอร์ช่วยคิดวางแผนธุรกิจและการเงินให้โดยไม่จำเป็นต้องลองผิดลองถูกเอง ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์มีอัตราความเสี่ยงทางธุรกิจต่ำ ทั้งนี้ คาดว่าปีแรกนี้จะสามารถคัดเลือกแฟรนไชส์ที่จะให้สินเชื่อได้ราว 15 – 20 ราย

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า หลังจากการให้สินเชื่อแล้ว SME BANK จะทำการติดตามประเมินผลและทำการวิเคราะห์เป็นระยะๆ อย่างใกล้ชิด รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาทางการเงินตลอดระยะเวลาการปล่อยสินเชื่อ ขณะเดียวกัน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จะช่วยในการส่งเสริมและพัฒนาให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ที่เป็นมาตรฐานสากล มีศักยภาพ และมีความเข้มแข็ง โดยการเสริมสร้างทักษะและประสบการณ์ทางธุรกิจ รวมทั้งช่วยขยายเครือข่ายแก่ผู้ประกอบธุรกิจให้ได้มีโอกาสพบปะกลุ่มเป้าหมายต่างๆ เพื่อขยายธุรกิจ และนำไปสู่การสร้างรูปแบบธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีความมั่นคงพร้อมแข่งขันในระดับสากล ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการที่ได้รับสินเชื่อไปมีพี่เลี้ยงคอยดูแลในการประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง


สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ต่ำกว่า 1 ล้านบาท SME BANK จะดำเนินการพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้ในระยะถัดไป หลังจากที่ได้สรุปและประมวลผลการให้สินเชื่อและความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์แล้ว ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์โดยใช้กิจการเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันจะช่วยสร้างผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่แวดวงธุรกิจไทยมากขึ้น

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า พระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา เป็นกฎหมายที่ช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เพิ่มมากขึ้น โดยสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ในการประกอบกิจการมาใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้ โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินและสามารถใช้ทรัพย์สินนั้นไปผลิตเป็นสินค้าหรือบริการเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มได้ 

ข้อมูล ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2560 มีธุรกิจเอสเอ็มอียื่นคำขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ รวม 149,349 คำขอ มูลค่าทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกัน 2,800,545 ล้านบาท โดยสิทธิเรียกร้องประเภทบัญชีเงินฝากธนาคารเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 60.05 มูลค่า 1,681,855 ล้านบาท รองลงมาคือ สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ เครื่องจักร รถยนต์ เรือ คิดเป็นร้อยละ 19.53 มูลค่า 546,995 ล้านบาท และสิทธิเรียกร้องประเภทอื่นๆ เช่น ลูกหนี้การค้า สัญญาจ้าง สัญญาซื้อขาย สัญญาเช่าซื้อ คิดเป็นร้อยละ 17.20 มูลค่า 481,611 ล้านบาท ทรัพย์สินทางปัญญา คิดเป็นร้อยละ 0.07 มูลค่า 1,975 ล้านบาท ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า หลักทรัพย์ที่เป็นกิจการยังไม่เคยมีการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจเลย ดังนั้น หาก SME BANK ได้ดำเนินการปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจแฟรนไชส์โดยใช้กิจการเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ธุรกิจแฟรนไชส์จะเป็นธุรกิจแรกที่ใช้หลักประกันทางธุรกิจประเภทกิจการมาค้ำประกันสินเชื่อ-สำนักข่าวไทย


ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

นักธุรกิจสาวแจ้งความทนายดัง “ฉ้อโกง” ฮุบเงิน 71 ล้าน

นักธุรกิจสาว อดีตลูกความทนายดัง แจ้งความถูกทนายดังฉ้อโกง ฮุบเงิน 71 ล้านบาท เผยถูกหลอกให้ลงทุนซื้อแพลตฟอร์ม “หวยออนไลน์”

สาวแจ้งความภรรยาอดีตบิ๊กตำรวจ ย่องลักทรัพย์ในคอนโดฯ

หญิงสาวแจ้งความภรรยาอดีตตำรวจยศนายพล แอบกิ๊กสามี แถมย่องลักทรัพย์ในคอนโดฯ มูลค่าหลายล้านบาท ด้านตำรวจเรียกผู้เสียหายสอบเพิ่ม พร้อมเก็บภาพวงจรปิดตรวจสอบแล้ว

“ทนายบอสพอล” มองยึดมือถือ พนง.ดิไอคอน เกินเส้นกฎหมาย

“ทนายบอสพอล” พาพนักงานดิไอคอน ลงบันทึกประจำวัน หลังตำรวจบุกค้น 11 จุด และยึดมือถือ มองว่าทำเกินกว่ากฎหมาย พร้อมฝากถึงศาลยุติธรรมในการออกหมายจับรอบ 2 เป็นห่วงสิทธิของทุกฝ่าย

ข่าวแนะนำ

ครบ 20 ปี เหตุจลาจลคดีตากใบ จำเลยยังล่องหน

วันนี้ครบรอบ 20 ปี เหตุจลาจลหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส และยังเป็นวันที่คดีหมดอายุความ ในขณะที่การติดตามจับกุมตัวจำเลยยังไร้วี่แวว พาไปย้อนรอยเหตุการณ์และมุมมองของนักวิชาการต่อคดีนี้

รวบ “นัตตี้ ไดอารี่” ยูทูบเบอร์หลอกเทรดหุ้นฟอเร็กซ์

ตำรวจร่วมกับ ดีเอสไอ แถลงรับตัว “นัตตี้ ไดอารี่” กับแม่ ผู้ต้องหาหลอกเทรดหุ้นฟอเร็กซ์ มูลค่าความเสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท หลังหลบหนีไปอินโดนีเซีย และถูกตำรวจอินโดฯ จับกุม จากนี้ส่งตัวดีเอสไอดำเนินคดีต่อ