กรุงเทพ 23 มี.ค. – เลขาฯ ศอ.บต. เผยเร่งฟื้นเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนใต้ -เยียวยาประชาชนหลังเหตุไม่สงบ เตรียมหนุน “นกกรุงหัวจุก” เป็นสัตว์เศรษฐกิจ กระตุ้นท่องเที่ยว เชื่อนายกฯ ลงพื้นที่เที่ยวใต้ ปลอดภัย เรียกความเชื่อมั่น
พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวถึงเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ว่า กลุ่มผู้เห็นต่างพยายามสร้างสถานการณ์ความไม่สงบ ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวจากเหตุการณ์คนร้ายลอบระเบิด วางเพลิงร้านค้า เผากล้องวงจรปิดและทรัพย์สินของทางราชการ และก่อความไม่สงบในพื้นที่จ.นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และจ.สงขลา ทำให้มุมมองและภาพรวมด้านเศรษฐกิจนั้นดูแย่ลง การเติบโตด้านเศรษฐกิจชะลอลง
การกระทำของกลุ่มผู้เห็นต่าง หรือกลุ่มผู้สร้างสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ที่ก่อให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน ไม่เกิดประโยชน์กับฝ่ายใดและทำให้มวลชนไม่ยอมรับกับแนวทางนี้
พ.ต.ท.วรรณพงษ์ กล่าวว่า ศอ.บต.เตรียมเร่งดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบตามหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเยียวยาฯ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และพร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ให้ฟื้นฟูเติบโตอีกครั้ง ตามกรอบนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเตรียมสนับสนุนให้นกกรงหัวจุกเป็นสัตว์เศรษฐกิจ เพื่อสร้างโอกาสในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ กระตุ้นการท่องเที่ยว ไปพร้อมกับการพัฒนาแนวทางการเลี้ยงนกกรงหัวจุกอย่างยั่งยืน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสัตว์ป่า รวมถึงพัฒนาและปรับปรุงแนวการค้าชายแดนให้มีโอกาสเติบโตทางด้านการค้ามากยิ่งขึ้น และส่งเสริมเศรษฐกิจชายแดนใต้ให้เป็นเมืองคู่แฝดกับประเทศมาเลเซีย
“รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แสดงความจริงใจ และให้ความสำคัญในการออกนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจและการพัฒนา จชต.โดยให้ ศอ.บต.ร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว ที่จะเกิดประโยชน์รอบด้านในทุกมิติ โดยส่งเสริมการท่องเที่ยวในกิจกรรม “เที่ยวใต้ สุดใจ”เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกระดับ ทุกศาสนา สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของรัฐบาลอย่างจริงใจ ที่จะสร้างภาพจำใหม่ให้คนไทยและชาวต่างชาติเห็นว่า พื้นที่ จชต.ปลอดภัย น่าท่องเที่ยวโดยนายกฯ ได้ลงพื้นที่เมื่อวันที่ 27-29 ก.พ.ที่ผ่านมา พร้อมคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้อง มาพักค้างคืนและร่วมทำกิจกรรม ใต้ พร้อมสวมเสื้อผ้าลายผ้าอัตลักษณ์ท้องถิ่น 3 วัน 3 แบบ เพื่อส่งเสริม Soft Power และอาหาร ของใช้จากผู้ประกอบการ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ ทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจใน3จชต.ดีขึ้น และส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างเท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติ ได้รับการยอมรับและเกิดกระแสนิยมจากผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่ สามารถลดช่องว่าง และเกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่เห็นผลชัดเจน. – 313 สำนักข่าวไทย