กรุงเทพฯ 21 มี.ค. – Google.org ร่วมมือกับ ASEAN Foundation หรือ มูลนิธิอาเซียน จัดโครงการ ASEAN Digital Literacy Program (ADLP) เพื่อสร้างความตระหนักรู้ แก่พลเมืองอาเซียนให้สามารถรู้เท่าทันโลกดิจิทัล
การจัดงานที่กรุงเทพฯ เมื่อวานนี้ เป็นภารกิจที่ 4 ซึ่งเป็นภารกิจท้ายสุดของโครงการ ASEAN Digital Literacy คือ สรุปผลศึกษาวิจัยการข้อมูลความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลและความฉลาดรู้เรื่องดิจิทัล (digital divided landscape) ใน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน นอกเหนือไปจาก 3 ภารกิจสำคัญที่ทำมาก่อนหน้านี้ คือ ทำงานกับกลุ่มเครือข่ายเยาวชนจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN Youth Advisory Group) เพื่อทำแคมเปญและปรับเนื้อหาเพื่อสร้างความฉลาดรู้ดิจิทัลให้เหมาะกับประเทศของตน, ฝึกอบรม (Training of Trainers) ให้เยาวชนกลุ่มต้นแบบจำนวน 2,000 คน มีความรู้ฉลาดใช้ดิจิทัล รวมทั้งนำเนื้อหาด้าน digital literacy ที่ Google มีอยู่แล้วมาปรับให้เข้ากับบริบทและภาษาของแต่ละประเทศ ก่อนนำไปสู่ภารกิจที่ 3 คือ ให้เยาวชนทั้ง 2,000 คนดังกล่าวกลับไปถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่คนในประเทศบ้านเกิด
Marija Ralic ผู้บริหาร Google.org ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นองค์กรหลักที่สนับสนุนโครงการ ASEAN Digital Literacy กล่าวชื่นชมการดำเนินงานของมูลนิธิอาเซียน ภายใต้ความคิดริเริ่มของ รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการบริหาร ASEAN Foundation ว่า โครงการนี้เกิดสัมฤทธิ์ผลในการสร้างความตระหนักรู้และเสริมศักยภาพพลเมืองอาเซียนให้รู้เท่าทันดิจิทัลเหนือความคาดหมาย ช่วยให้พลเมืองอาเซียนได้ความรู้ถึง 190,000 คน จากตัวเลขเป้าหมายเบื้องต้น100,000 คน
ขณะที่เอ็ม.ไอ. เดอรี่ อามาน ผู้แทนถาวรของสาธารณรัฐอินโดนีเซียประจำอาเซียน และประธานคณะกรรมการทรัสตีของมูลนิธิอาเซียน กล่าวในพิธีเปิดย้ำถึงความสำคัญของการเสริมศักยภาพและสร้างความสามารถในการรู้เท่าทันดิจิทัลว่า จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลง รวมทั้งสร้างอนาคตที่ถูกที่ควรให้แก่เด็กและเยาวชน ในยุคที่โลกเต็มไปด้วยข่าวปลอม และข้อมูลที่บิดเบือนจากความเป็นจริง และการที่ทุกฝ่ายในประชาคมอาเซียนจับมือร่วมมือกันถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะส่งผลดีต่อภูมิภาคโดยรวมอย่างยิ่ง
จากการศึกษาวิจัยเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลที่นักวิจัยจาก 10 ชาติสมาชิกอาเซียนสรุปผลวันนี้ พบว่า ปัญหาที่พบร่วมกันส่วนใหญ่ คือ ผู้เสพสื่อดิจิทัลยังขาดทักษะด้านการคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) ทำให้หลงเชื่อข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ไม่มีการยืนยันตัวตนได้ง่าย ซึ่งแน่นอนว่าล้วนเป็นข้อมูลลวง ข่าวปลอม ปรากฏการณ์นี้ไม่เพียงเกิดในกลุ่มเยาวชน บุคคลทั่วไป แต่ยังรวมถึงแวดวงครูและนักการศึกษา กลุ่มเปราะบางที่พบซึ่งในลักษณะอันคล้ายกันคือผู้สูงอายุ กลุ่มวัยรุ่น และผู้ด้อยโอกาสส่วนประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสิงคโปร์ ซึ่งประชาชนมีอัตราการรู้หนังสือมากถึง 97% ก็ยังไม่พ้นตกเป็นเหยื่อของ scammer (นักต้มตุ๋นทางออนไลน์) โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนที่มั่นใจว่าสามารถแยกแยะข้อมูลเท็จได้
ด้าน รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการบริหาร ASEAN Foundation ระบุว่า ความฉลาดรู้ทางดิจิทัล มีความสำคัญต่อพลเมืองอาเซียนโดยเฉพาะคนไทยอย่างมากในยุคปัจจุบัน หากสามารถนำเทคโนโลยีใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ไทยก็จะเป็น 1 ในอาเซียนที่มีศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดได้ แต่จำเป็นต้องมีความฉลาดรู้เรื่องดิจิทัล และเตรียมคนให้พร้อม แต่ปัจจุบันไทยยังมีขาดความพร้อมอยู่มาก โดยเฉพาะเรื่องความสามารถในการเข้าถึงและใช้ข้อมูล (information competency) และการคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking).-811(814).-สำนักข่าวไทย