กรุงเทพฯ 27 ก.พ. – ส.ป.ก.ตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลัง 28 ปี เพื่อยืนยันแนวเขตปฏิรูปที่ดินท้องที่ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา พบถนนซึ่งเป็นแนวกันไฟและเส้นทางลาดตระเวนของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตัดรุกล้ำเข้ามาในเขตปฏิรูปที่ดิน 1 กม. ย้ำ ส.ป.ก.ไม่ได้รุกที่อุทยานฯ แน่นอน แต่การออก ส.ป.ก. 4-01 ในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งมีสภาพป่า เป็นการดำเนินการโดยมิชอบ หากพบในพื้นที่ใด “รมว.ธรรมนัส” สั่งลงโทษอย่างเด็ดขาด
สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) นำภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลังตั้งแต่ พ.ศ. 2495 มาตรวจสอบเพื่อยืนยันแนวเขตปฏิรูปที่ดิน ท้องที่ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ปักหลักหมุด ส.ป.ก. และออก ส.ป.ก. 4-01 ในหมู่ที่ 10 ต่อมาเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เข้าตรวจยึด จนเป็นที่มาของข้อพิพาทเกี่ยวกับแนวเขตระหว่าง ส.ป.ก. และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
นอกจากนี้ยังทบทวนการดำเนินการของรัฐบาลเกี่ยวกับการจำแนกพื้นที่ป่าให้นำมาจัดสรรเป็นที่ทำกินของเกษตรกรในอดีตและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งพบว่าใน พ.ศ. 2502 มีมติ ครม.ให้จำแนกที่ดินในประเทศไทย โดยให้แยกเป็นที่ดินที่จะสงวนเป็นเขตป่าไม้ และที่ดินที่จะนำไปจัดสรรให้ราษฎรทำกิน ตามคำแนะนำขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ในปี 2493 โดยมอบให้กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดินเป็นผู้ดำเนินการ แม้กรมป่าไม้ สังกัดกระทรวงเกษตรฯ สาเหตุอาจเป็นเพราะขณะนั้นกรมป่าไม้ไม่มีเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญ
ต่อมาวันที่ 14 พฤศจิกายน 2504 กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรฯ นำเสนอให้ ครม.พิจารณาผลการจำแนกที่ดิน ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบ โดยจำแนกเป็นพื้นที่ป่าที่จะสงวนไว้เป็นสมบัติของชาติถาวรสืบไปหรือที่ต่อมาเรียกว่า เขตป่าไม้ถาวรประมาณ 171 ล้านไร่และที่ดินจำแนกเพื่อจัดสรรให้ราษฎรทำกินประมาณ 31 ล้านไร่ โดยคราวนั้นได้จำแนกเขตป่าไม้ถาวรป่าเขาใหญ่ เนื้อที่ 219,375 ไร่ รวมอยู่ด้วย ขณะเดียวกัน ยังเสนอขอความเห็นจาก ครม.ด้วยว่า การสำรวจเพื่อจำแนกพื้นที่เป็นการสำรวจทางกายภาพว่า ที่ดินมีสภาพป่าและเหมาะสมต่อการทำเกษตรกรรมหรือไม่เท่านั้น สมควรมีการสำรวจภาคสนามอีกครั้งหนึ่ง ซึ่ง ครม.เห็นชอบตามที่เสนอ
จากนั้นเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2505 มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาใหญ่ เนื้อที่กว่า 1.3 ล้านไร่ ซึ่งทับซ้อนในเขตป่าไม้ถาวรป่าเขาใหญ่ด้วย กระทั่งในปี 2506 ครม.เห็นชอบแนวเขตป่าไม้ถาวรแห่งชาติป่าเขาใหญ่ ตามที่ได้เห็นชอบไว้เมื่อปี 2504 เนื้อที่ 219,375 ไร่เท่าเดิม
กรมป่าไม้ได้ส่งแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มาให้คณะกรรมการพัฒนาที่ดิน ในปี 2527 โดยในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาที่ดิน ครั้งที่ 6/2537 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2527 เห็นชอบให้จำแนกพื้นที่ทับซ้อนระหว่างเขตป่าไม้ถาวรกับเขตอุทยานแห่งชาติป่าเขาใหญ่อีกครั้ง แล้วเสนอ ครม.พิจารณาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2530 จากเนื้อที่ 219,375 ไร่ ครม.เห็นชอบจำแนกพื้นที่ทับซ้อนให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติป่าเขาใหญ่ 181,729 ไร่ ส่วนพื้นที่ป่าไม้ถาวรที่ไม่ทับซ้อนนี้ ให้จำแนกให้ ส.ป.ก. นำไปปฏิรูปที่ดิน 37,625 ไร่ และคงไว้เป็นป่าไม้ถาวรป่าเขาใหญ่ เพื่อให้ราษฎรใช้ประโยชน์และเป็นพื้นที่กันชน 3,729 ไร่
ดังนั้น ส.ป.ก. จึงมีความเห็นว่า เนื้อที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มี 181,729 ไร่ ตามมติ ครม. ปี 2530 รวมทั้งจากการจำแนกที่ดินเป็น 3 ส่วนดังกล่าว จะเห็นชัดเจนว่า แนวเขตพื้นที่ที่ ส.ป.ก.ได้รับมอบ มิใช่ที่ดินทับซ้อนกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หรือเคยเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มาก่อนแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ส.ป.ก. นำที่ดินป่าไม้ถาวรที่ถูกจำแนกออกไปตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินต่อไป
ในช่วงปี 2536 กรมป่าไม้นำเงินกองทุนสิ่งแวดล้อมมาตัดถนนเป็นแนวกันไฟ และเป็นเส้นทางลาดตระเวนรอบเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยผู้รับเหมาตัดถนนรุกล้ำเข้ามาในเขตปฏิรูปที่ดินประมาณ 1 กิโลเมตร ทำให้ในช่วงนั้นมีปัญหาการตรวจรับงานจ้าง
เมื่อถนนแนวกันไฟล้ำจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติมาในเขตปฏิรูปที่ดิน เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จึงเริ่มออกจับกุมชาวบ้านที่เข้าทำดินในที่ดินบริเวณนั้น ราษฎรจึงไม่กล้าเข้าไปทำกิน จึงเป็นสาเหตุให้ที่ดินกลับมามีสภาพเหมือนป่าธรรมชาติ
สำหรับประเด็นที่เจ้าหน้าที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา เข้าไปรังวัดและออก ส.ป.ก. 4-01 บริเวณบ้านเหวปลากั้ง หมู่ที่ 10 ซึ่งที่ดินมีสภาพเป็นป่า เป็นสิ่งที่ผิดระเบียบการจัดสรรที่ดิน นอกจากนี้ บุคคลที่ได้รับ ส.ป.ก. 4-01 อาจไม่ใช่เกษตรกร จึงเป็นสิ่งที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นว่าอาจมีเจตนาทุจริต จึงมอบหมายให้ที่ปรึกษากฎหมายเข้าแจ้งความดำเนินคดีอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ รวมทั้งให้เลขาธิการ ส.ป.ก. ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อนำไปสู่การลงโทษทางวินัยต่อไป
ล่าสุด ร.อ.ธรรมนัส ได้ลงนามในคำสั่งเรื่องนโยบายการดำเนินการบริเวณเขตพื้นที่กันชน (Buffer Zone) ระหว่างเขตปฏิรูปที่ดินกับที่ดินของรัฐประเภทอื่น โดยมีสาระสำคัญว่า พื้นที่ที่ติดกับป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ ต้องไม่จัดสรรให้เข้าทำการเกษตรอย่างเด็ดขาด แต่ให้จัดทำเป็นป่าชุมชน เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ ควบคู่กับการรักษาพื้นที่ป่า
นอกจากนี้ยังให้ตรวจสอบการจัดที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินว่า มีกรณีจัดที่ดินโดยผิดกฎหมายหรือไม่ หรือจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือยังมีที่ดินที่ยังไม่ได้ดำเนินการจัดให้แก่เกษตรกรแต่อย่างใด หากพบว่า การจัดที่ดินดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ดำเนินการตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องโดยเคร่งครัด ตลอดจนเตรียมการสำรวจพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการจัดสรร หรือที่ดินว่างเปล่า รองรับเกษตรกรกลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่ไม่มีที่ดินทำกิน โดยให้จัดสรรที่ดินให้กับกลุ่มเหล่านี้ตามระเบียบ ส.ป.ก. ต่อไป
ทั้งนี้ ร.อ.ธรรมนัส ย้ำว่า หากพบเจ้าหน้าที่ปฏิรูปที่ดินออก ส.ป.ก. 4-01 โดยมิชอบ จะไม่เลี้ยงไว้ โดยการจัดสรรที่ดินของ ส.ป.ก. ต้องจัดให้เกษตรกรผู้ยากไร้ ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518.-512-สำนักข่าวไทย