กรุงเทพฯ 26 ก.พ. – กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดงานวันสหกรณ์แห่งชาติ ปี 2567 ครบรอบ 108 ปี การสหกรณ์ไทย เพื่อน้อมรำลึกถึงพระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย เดินหน้าขับเคลื่อนงานพัฒนาสหกรณ์ให้เข้มแข็งเติบโตอย่างยั่งยืน
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นประธานการจัดกิจกรรมเนื่องในวันสหกรณ์แห่งชาติ ประจำปี 2567 ครบรอบ 108 ปี การสหกรณ์ไทย เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ “พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย” โดยวางพานพุ่มดอกไม้สดสักการะพระอนุสาวรีย์
จากนั้นอ่านสารจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยมี นางสาวอัญมณี ถิรสุทธิ์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ นายนิรันดร์ มูลธิดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายประวัติ แดงบรรจง รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายสันทาน สีสา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ คณะผู้บริหารกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ขบวนการสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมพิธี
อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวสดุดีพระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทยว่า ทรงส่งเสริมให้ก่อตั้งสหกรณ์แห่งแรก คือ สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้ ณ ตำบลวัดจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก และทรงเป็นนายทะเบียนสหกรณ์ (พระองค์แรก) รับจดทะเบียนเป็นสหกรณ์แห่งแรก เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2459 และเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2527 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น “วันสหกรณ์แห่งชาติ” เพื่อน้อมรำลึกถึงการที่ทรงส่งเสริมให้มีการเผยแพร่อุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์ไปทั่วประเทศอันก่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกร และสมาชิกสหกรณ์ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศสืบเนื่องมาโดยตลอด จนครบ 108 ปี สหกรณ์ไทยในวันนี้
ปัจจุบันมีจำนวนสหกรณ์ทั่วประเทศมากกว่า 6,300 แห่ง สมาชิก 11 ล้านครัวเรือน มีมูลค่าสินทรัพย์โดยรวมมากถึง 4 ล้านล้านบาท มีการแบ่งประเภทสหกรณ์ออกเป็น 7 ประเภท คือ สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ประมง สหกรณ์นิคม สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์บริการ สหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน
ในปี 2567 กรมส่งเสริมสหกรณ์ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลัก “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ประกอบด้วย การแก้ปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ภาคการเกษตรและสหกรณ์ออมทรัพย์ การสร้างรายได้ระหว่างพักชำระหนี้ การจัดที่ดินทำกินให้แก่สมาชิกนิคมสหกรณ์ การสนับสนุนการแปรรูปสินค้าเกษตรและการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร โดยการที่กรมสนับสนุนอุปกรณ์การตลาด ส่งเสริมการแปรรูป และเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนระหว่างเครือข่ายสหกรณ์เพื่อกระจายสินค้า
นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญต่อการป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตในสหกรณ์ โดยผลักดันให้สหกรณ์ทุกประเภทที่มีทุนดำเนินงาน 100 ล้านบาทขึ้นไป มีแอปพลิเคชันเพื่อให้สมาชิกตรวจสอบสถานะและทำธุรกรรมทางการเงินได้สะดวก พัฒนาบุคลากรทั้งบุคลากรของสหกรณ์และบุคลากรของกรมส่งเสริมสหกรณ์
สำหรับนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินสมาชิกสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ออกหนังสือขอความร่วมมือจากสหกรณ์ทรัพย์ทั่วประเทศ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ไม่เกิดอัตราร้อยละ 4.75 ต่อปีหรือปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ลดลงเพื่อช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ รวมทั้งการให้ความร่วมมือลดภาระการส่งชำระหนี้ตามที่แต่ละสหกรณ์กำหนด ซึ่งสหกรณ์ที่จะดำเนินการต้องพิจารณาถึงต้นทุนทางการเงินของตนเองก่อน ตลอดจนออกคำสั่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ เรื่องแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินสำหรับสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อให้สหกรณ์พิจารณาจัดทำโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเพื่อช่วยเหลือผ่อนปรนหนี้สินแก่สมาชิก โดยให้สมาชิกมีเงินได้รายเดือนคงเหลือเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพอย่างน้อยร้อยละ 30 ของเงินได้รายเดือน สมาชิกจะได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ขยายงวดการชำระหนี้ไปจนถึงอายุ 75 ปี สามารถนำจำนวนหุ้นที่มีอยู่กับสหกรณ์มาคำนวณงวดชำระหนี้ โดยผ่อนชำระเฉพาะส่วนที่เกินจากมูลค่าหุ้น เมื่อสมาชิกผ่อนชำระหนี้จนหมดแล้ว สมาชิกจะเหลือภาระหนี้เท่ากับมูลค่าหุ้นของตนเอง เมื่ออายุ 75 ปี สมาชิกจะมีรายได้รายเดือนคงเหลือเพื่อเลี้ยงชีพตามสมควร
ทั้งนี้กระบวนการสหกรณ์ให้ความสำคัญต่อการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยมีภาครัฐคือ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ สนับสนุนการดำเนินงานของสหกรณ์เพื่อความเข้มแข็งและยั่งยืนของสหกรณ์ไทย .- 512 – สำนักข่าวไทย