กรุงเทพฯ 8 ก.พ. -คลังเตรียมแพ็กเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดันภาคอสังหาฯ หนุนเอกชนรายย่อย เสนอนายกฯ ระหว่างรอแจกเงินดิจิทัล กรมบัญชีกลางแนะหน่วยงานรัฐจัดประมูล ระหว่างรองบปี 67 ผ่านสภา
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวระหว่างมอบรางวัลองค์กรดีเด่นที่มีความเป็นเลิศ ในการบริหารจัดการด้านการเงินการคลัง งบประมาณประจำปี 65 ว่า ในช่วงระหว่างรอความชัดเจนการขับเคลื่อนโครงการดิจิทัลวอเล็ต 10,000 บาท กระทรวงการคลัง ได้เตรียมเสนอนายกรัฐมนตรี พิจารณาแพ็กเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายด้าน โดยเฉพาะการช่วยเหลือภาคอสังหาฯ หลังจากที่ผ่านมารัฐบาลได้ขยายเวลาลดค่าธรรมเนียมการโอน การจดจำนองไปแล้ว เพื่อให้ประชาชนรายย่อยซื้อบ้านในราคาถูก หนุนให้มีบ้านอยู่อาศัยมากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการอสังหารายย่อย สามารถยื่นขอส่งเสริมจากบีโอไอ สร้างบ้านอยู่อาศัยในราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาทต่อหน่วย กระทรวงการคลัง ยังเจรจากับแบงก์ชาติ เพื่อขอให้ขยายมาตรการ LTV เพื่อให้คนต้องการมีบ้านมียอดกู้ซื้อได้มากขึ้น
กระทรวงการคลังยังขอให้ส่วนราชการเตรียมขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้าง ประกาศ TOR เปิดประมูลโครงการลงทุน หาผู้ชนะโครงการ เตรียมใช้งบประมาณรายจ่ายปี 67 โดยบันทึกแนบท้ายเมื่องบผ่านสภาแล้ว จากนั้นจึงลงนามสัญญา เพื่อให้งบประมาณลงทุนออกสู่ระบบโดยเร็วที่สุด เพราะมีระยะเวลาการใช้งบลงทุนเพียง 5-6 เดือน ก่อนครบกำหนดในสิ้นเดือนกันยายน เพื่อให้งบลงทุนออกสู่ระบบตามเป้าหมายร้อยละ 75 เบิกจ่ายงบประจำร้อยละ 98 เบิกจ่ายภาพรวมทั้งหมดร้อยละ 93 ของงบประมาณรายจ่ายปี 67 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท
กรณี กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 2.5 และคาดการณ์จีดีพีในปี 67 ขยายตัวร้อยละ 2.5-3 นั้น ช่วงนี้อยากให้ ธปท. ใช้นโยบายดอกเบี้ยมาช่วยดูแลเศรษฐกิจให้สอดคล้องกัน เนื่องจากนโยบายการคลังได้ออกไปเยอะมากแล้ว ช่วงที่ผ่านมา ทั้งการขาดดุลงบประมาณ การลดหย่อนภาษีหลายประเภท การกระตุ้นการท่องเที่ยว การส่งเสริมบีโอไอ เมื่อตัวเลขจีดีพีปี 66 ของสภาพัฒน์ ออกมาเร็วๆนี้ คาดว่าปี 76 หลายหน่วยงานทั้งคลังและ ธปท. สภาพัฒน์ จะใกล้เคียงกัน
นางแพตริเซีย มงคงวณิช อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าวว่า การยื่นอุทธรณ์โครงการชนะประมูล ได้เร่งเคลียร์เรื่องค้างท่อให้เร็วที่สุด เมื่องบประมาณปี 67 ผ่านสภาจะได้เตรียมรับมือทันที หากฟังไม่ขึ้นจะดีดออกไปก่อน เพื่อให้โครงการลงทุนเดินไปได้อย่างรวดเร็ว ป้องกันปัญหาการร้องเรียนแบบไม่จำเป็น เพื่อให้หน่วยงานรัฐ จัดซื้อจัดจ้างได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งต้องการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง หากยื่นอุทธรณ์ ต้องวางเงินประกัน ป้องกันไม่ให้ยื่นอุทธรณ์เพียงแค่ไม่ยอมแพ้ประมูล เพราะถูกมองว่าเป็นการลิดลอน หรือกระทบผู้ประมูลอย่างถูกต้อง ทำให้โครงการลงทุนล่าช้าออกไป สร้างภาระโดยไม่จำเป็น ยอมรับเรื่องนี้ต้องใช้เวลาอีกนานในการแก้ไขกฎหมาย .-515 สำนักข่าวไทย