นนทบุรี 17 ม.ค.-รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ลงพื้นที่แหล่งผลิตสุราพื้นบ้านของดีเมืองแพร่ ขานรับนโยบาย Soft Power เตรียมดันขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรอย่างยั่งยืน
นางสาวกนิษฐา กังสวนิช รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญานำทีมลงพื้นที่แหล่งผลิต “สุราสักทองแพร่” เดินหน้าผลักดันขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ตัวใหม่ของจังหวัดแพร่ พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่ม “ผ้าหม้อห้อมแพร่” GI เมืองแพร่เติบโต สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ จากการที่คณะรัฐมนตรีมีมติปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวมถึงสุราพื้นบ้าน เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญาขานรับแนวนโยบายดังกล่าวผนวกกับนโยบาย Soft Power ของรัฐบาล ลงพื้นที่แหล่งผลิตสุราพื้นบ้านชั้นดีและมีชื่อของจังหวัดแพร่เพื่อประเมินว่ากรรมวิธีและกระบวนการผลิตเข้าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียน GI หรือไม่ พร้อมจัดประชุมระดมความเห็นคนในพื้นที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมสุราพื้นบ้านและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องแบบองค์รวม”
“สุรากลั่นจังหวัดแพร่ผลิตจากข้าวเหนียว หมักด้วยลูกแป้งหัวเชื้อสูตรลับเฉพาะ และใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่รวมถึงน้ำพุร้อน ปัจจุบันมีผู้ผลิตสุรากลั่นในจังหวัดแพร่กว่า 200 ราย ส่งรายได้ให้แผ่นดินจากการจ่ายอากรแสตมป์สุรากว่า 370,000,000 บาท/ปี และในอนาคตหากสินค้าดังกล่าวสามารถผลักดันขึ้นทะเบียนเป็น GI สำเร็จ ก็สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสุราและสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบด้วย นอกจากสุราพื้นบ้านแล้ว กรมฯ ได้หารือกับผู้ผลิตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดซึ่งมีแผนที่จะผลักดันการขึ้นทะเบียน GI “ส้มโอขาวน้ำผึ้งเมืองลอง” และ “ส้มเขียวหวานวังชิ้น” อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ขึ้นทะเบียนสินค้า GI ไทยแล้ว 195 สินค้า ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจังหวัดแพร่มีสินค้า GI ผ้าหม้อห้อมแพร่ สร้างรายได้ 3,218,000 บาท/ปี โดยบ้านทุ่งโฮ้ง จังหวัดแพร่ เป็นแหล่งผลิตสินค้า “ผ้าหม้อห้อมแพร่” ที่ใหญ่ที่สุด มีการสืบทอดการผลิตจากภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างยาวนาน มีลักษณะเด่นคือเป็นผ้าทอพื้นเมืองหรือเสื้อผ้าที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ หรือเส้นใยสังเคราะห์ ที่ผ่านกระบวนการย้อมสีธรรมชาติ ทำให้เกิดลวดลายด้วยการมัดย้อม การจุ่ม หรือการพิมพ์ลาย ด้วยภูมิปัญญาการก่อหม้อห้อมที่ใช้ใบและต้นห้อมที่ปลูกในจังหวัดแพร่ ทำให้ผ้าทอและเสื้อผ้าที่ผ่านการย้อมเย็นมีเฉดสีฟ้า ถึงสีน้ำเงินเข้ม มีกลิ่นหอมตามธรรมชาติ ซึ่งที่ผ่านมากรมฯ ได้มีการส่งเสริมการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการผ้าหม้อห้อมแพร่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค.-514-สำนักข่าวไทย