25 ตุลาคม 2566 – ตามที่มีการแชร์เกี่ยวกับกรดไหลย้อนเอาไว้มากมาย ทั้งอันตราย ห้ามนอนตะแคงขวา และการกลั้นผายลมเสี่ยงให้เกิดกรดไหลย้อน ?! เรื่องไหนจริง เรื่องไหนเท็จ พบคำตอบได้ที่ชัวร์ก่อนแชร์ CHECK-LIST ร้อยเรียงเรื่องฮิต ติดอันดับจากชัวร์ก่อนแชร์
อันดับที่ 1 : กรดไหลย้อน ห้ามนอนตะแคงขวา จริงหรือ ?
มีการแชร์ข้อความว่า คนที่เป็นกรดไหลย้อนห้ามนอนตะแคงขวาโดยเด็ดขาด
บทสรุป : จริง แชร์ได้ ✅
ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ : อ.นพ.ปิยะพันธ์ พฤกษพานิช อายุรแพทย์ระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และ
ผศ.นพ.โชคชัย หมั่นแสวงทรัพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า
มีการวิจัยว่านอนตะแคงขวามีโอกาสเกิดกรดไหลย้อนมากกว่านอนตะแคงซ้าย และแม้ว่ากรดไหลย้อนจะไม่ทำอันตรายถึงชีวิต แต่เป็นโรคที่บั่นทอนคุณภาพชีวิต โดยในต่างประเทศคนที่เป็นโรคกรดไหลย้อนรุนแรงนำไปสู่การเกิดมะเร็งหลอดอาหารได้ แต่ในประเทศไทยยังไม่พบว่ามีอาการรุนแรงเช่นนั้น
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าการนอนให้ศีรษะอยู่สูงจะช่วยป้องกันโรคกรดไหลย้อนได้ดีกว่านอนตะแคง โดยต้องหนุนเตียงให้สูงอย่างน้อย 6 นิ้วขึ้นไป ไม่ใช่หนุนหมอนสูง ส่วนวิธีป้องกันโรคกรดไหลย้อน คือ ต้องควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากเกินไป อย่าใส่เสื้อผ้ารัด เลี่ยงอาหารทอด-มัน-รสเปรี้ยวจัด และควรนอนหลังกินอาหารมื้อเย็นแล้วอย่างน้อย 3 ชั่วโมงขึ้นไป
ด้าน ผศ.นพ.โชคชัย หมั่นแสวงทรัพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ว่าโรคกรดไหลย้อนมีความสัมพันธ์กับการนอน หากกินอาหารชิ้นใหญ่มากหรือเป็นกรดมากเกินไป เวลานอนตะแคงซ้ายกรดในกระเพาะอาหารที่อยู่ด้านซ้ายของร่างกายจะไหลย้อนขึ้นมา แต่หากนอนตะแคงทับแขนขวาของตัวเองทำให้กระเพาะอยู่ด้านบน กรดในกระเพาะอาหารก็จะไหลย้อนขึ้นมาได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม โรคกรดไหลย้อนมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากกับคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เพราะหูรูดเริ่มเสื่อม ภาวะเครียด เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด ดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ ก็มีส่วนทำให้กรดออกมากขึ้นเช่นกัน
อันดับที่ 2 : ผักชีลาว ขมิ้น บรรเทากรดไหลย้อน จริงหรือ ?
มีการแชร์ว่าผักชีลาว ว่านกาบหอยแครง ขมิ้น บรรเทาอาการกรดไหลย้อนได้
บทสรุป : ไม่จริง ไม่ควรแชร์ ❌
ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ : อ.นพ.ปิยะพันธ์ พฤกษพานิช อายุรแพทย์ระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
จากการทดลองเรื่องกรดไหลย้อนในหนูพบว่ามีฤทธิ์ลดการหลั่งกรด แต่ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าช่วยคนที่เป็นโรคกรดไหลย้อนได้, การใช้ว่านกาบหอยแครงต้มกับใบเตยก็ไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยัน, ขมิ้นชัน เป็นสารลดการระคายเคือง ลดการอักเสบ ไม่มีฤทธิ์ลดกรดไหลย้อน แต่อาจลดการอักเสบของผิวหลอดอาหารที่เกิดจากกรดไหลย้อนได้
กรดไหลย้อนมีทั้งที่เป็นโรคและไม่เป็นโรค หากมีอาการแสบร้อนกลางหน้าอกนานๆ ครั้ง ไม่รุนแรง ถือว่าไม่ใช่โรค แต่หากมีอาการแสบร้อนรุนแรงเป็นเวลานานมากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ถือเป็นโรคกรดไหลย้อน ส่วนอาการอื่นที่อาจพบได้คือ เสียงแหบเรื้อรัง กล่องเสียงอักเสบ ฟันผุ มีกลิ่นปาก ไอเรื้อรัง การดื่มนมที่นำไปแช่เย็นสามารถบรรเทาอาการกรดไหลย้อนได้ เพราะนมจะไปจับกับกรดช่วยลดอาการแสบร้อน แต่หากอาการรุนแรงควรพบแพทย์
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า คนไข้กรดไหลย้อนควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ย่อยยาก ควบคุมน้ำหนัก ไม่ควรใส่เสื้อผ้ารัดหรือคับเกินไป อย่านอนหลังอาหารภายใน 3 ชั่วโมง และนอนหนุนศีรษะสูงอย่างน้อย 6 นิ้วโดยเป็นการหนุนเตียง ไม่ใช่หนุนหมอน
อันดับที่ 3 : กรดไหลย้อนปล่อยไว้เสี่ยงมะเร็ง จริงหรือ ?
มีการแชร์เตือนว่าโรคกรดไหลย้อน หากปล่อยไว้หรือเป็นนานๆ อาจเป็นความเสี่ยงของโรคมะเร็ง
บทสรุป : จริงบางส่วน ไม่ควรแชร์ ⚠️
ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ : อ.นพ.ปิยะพันธ์ พฤกษพานิช อายุรแพทย์ระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
แม้การปล่อยให้เป็นกรดไหลย้อนนาน ๆ จะมีส่วนเสี่ยงทำให้เกิดโรคมะเร็งอยู่บ้าง อย่างไรก็ตามประชากรไทยมีน้อยมาก จึงไม่น่ากังวล
อันดับที่ 4 : กลั้นผายลมเสี่ยงกรดไหลย้อน จริงหรือ ?
มีการแชร์งานวิจัยว่า “การกลั้นผายลม” จะทำให้เสี่ยงเป็นโรคกรดไหลย้อน
บทสรุป : ไม่จริง ไม่ควรแชร์ ❌
ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ : อ.นพ.ปิยะพันธ์ พฤกษพานิช อายุรแพทย์ระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
การกลั้นผายเป็นเรื่องของลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นคนละส่วนกันกับโรคกรดไหลย้อนที่จะเกิดในจุดที่กระเพาะต่อกับหลอดอาหาร การกลั้นผายลมแม้จะรู้สึกอึดอัดอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่สาเหตุเสี่ยงเป็นกรดไหลย้อน
อันดับที่ 5 : 5 ปัจจัยเสี่ยงกรดไหลย้อน จริงหรือ ?
มีการแชร์ข้อความว่า 5 ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคกรดไหลย้อน เช่น กินอาหารมากเกินไป นอนหลังกินอิ่มใหม่ ใส่เสื้อผ้าคับเกินไป
บทสรุป : จริง แชร์ได้ ✅
ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ : อ.นพ.ปิยะพันธ์ พฤกษพานิช อายุรแพทย์ระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
5 ปัจจัยเสี่ยงของโรคกรดไหลย้อน ดังนี้
1. ทานอาหารรสจัด หรืออาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น ผลไม้รสเปรี้ยว น้ำส้มคั้น รวมไปถึงเครื่องดื่มคาเฟอีน
2. ทานอาหารในปริมาณมากเกินไป
3. นอนหลังกินอิ่มใหม่ๆ
4. สวมเสื้อผ้าที่คับเกินไป
5. อายุ – กล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะอาหารก็เหมือนอวัยวะส่วนอื่น ๆ ที่มีเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย : พีรพล อนุตรโสตถิ์, อัครวุฒิ ตู้วชิรกุล
เรียบเรียงโดย : ชยานิษฐ์ ผ่องใส
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter