5 ต.ค. – เผยเด็ก 14 เข้าสถานพินิจฯ วันแรกยังไม่ค่อยพูดอะไร อาจยังวิตกกังวล ขณะกรมพินิจฯ เตรียมประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้น
น.ส.ศิริประกาย วรปรีชา รองอธิบดีกรมพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชน เปิดเผยถึงกระบวนการรับตัว ด.ช.วัย 14 ปี เป็นวันแรก จากการสอบถามเจ้าหน้าที่สถานพินิจฯ ที่ได้รับตัวเมื่อช่วงเย็นวานนี้ พ่อของเด็กชายได้เดินทางมาส่งด้วย โดยทราบว่าเด็กไม่ค่อยพูดอะไรมาก ไม่ค่อยตอบคำถาม อาจยังอ่อนเพลีย และยังวิตกกังวลบ้างเพราะต้องค่อยปรับตัว ในช่วง 5 วันแรกจะให้อยู่ภายในห้องแรกรับก่อน เพื่อสังเกตอาการ การเจ็บป่วย โรคติดต่อต่าง ๆ ช่วงแรกพ่อแม่สามารถเยี่ยมทางออนไลน์ได้
ส่วนกระบวนการรับตัวมาทางสถานพินิจฯ นั้นจะมีการดำเนินการพร้อมกัน 2 ส่วน คือการสืบเสาะหาสาเหตุ สอบถามสภาพแวดล้อม การศึกษา ภูมิหลังครอบครัวต่างๆ รวมทั้งประเมินทางจิตวิทยา อีกส่วนคือที่บ้านเมตตาที่จะการดูแลความเป็นอยู่ ซึ่งกระบวนการในทางทางคดี ทางเจ้าหน้าที่กรมพินิจฯ ก็จะเริ่มกระบวนการสืบเสาะ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ทั้งประวัติส่วนตัว ครอบครัว การศึกษา การใช้ชีวิต เพื่อเจ้าหน้าที่จะนำข้อมูลที่รวบรวมได้ จัดทำเป็นรายงานเสนอต่อศาลเยาวชนฯ สำหรับศาลใช้พิจารณาประกอบขั้นตอนต่าง ๆ
การดำเนินการของกรมพินิจฯ มีทั้งนักจิตแพทย์ พ่อบ้านแม่บ้านแรกรับ จะร่วมกันพูดคุยสอบถามในเบื้องต้น รวมถึงประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้น ว่าเด็กมีความพร้อมในการให้ข้อมูลว่าน้อยขนาดไหน นอกจากนี้จะมีนักจิตวิทยาคลินิก จะประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้น ประเมินบุคลิกภาพ ประเมินความเสี่ยงต่อการมีปัญหาทางสุขภาพจิต หากพบว่าเด็กมีความเสี่ยง มีปัญหาสุขภาพจิตก็จะประสานร่วมกับแพทย์เฉพาะทางของสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ซึ่งแพทย์จะมีการทำรายงานพร้อมแนบความเห็นแพทย์เสนอต่อศาลเยาวชนฯ ต่อไป ซึ่งกระบวนการระยะการรักษาตัวอย่างไรต่อไปนั้นจะอยู่ที่ดุลพินิจของแพทย์เป็นหลัก หากเด็กได้รับการประเมินว่ามีปัญหาทางจิต จิตแพทย์และนักจิตวิทยาก็จะร่วมกันกำหนดถึงกระบวนการรักษาหรือโปรแกรมต่าง ๆ ที่เด็กจะต้องเข้าร่วมระหว่างรอการพิจารณาคดีของศาล
ส่วนความเป็นไปได้หรือไม่ ที่พ่อแม่เด็กจะขอไปรักษาภายนอก รองอธิบดีกรมพินิจฯ เผยว่า ตามหลักทางผู้ปกครองจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนฯ เพื่อศาลพิจารณาและมีคำสั่งแจ้งกลับว่าอนุญาตหรือไม่ อย่างไร แต่อย่างเคสนี้ศาลเห็นว่าควรเข้าสู่กระบวนการของสถานพินิจฯ ก่อน ซึ่งในอนาคตจะสามารถรับการรักษาภายนอก หากผู้ปกครองร้องขอได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล
พร้อมย้ำว่ากรมพินิจฯ มีกระบวนการจำแนกที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละราย หากเด็กมีปัญหาด้านสุขภาพจิต หลังศาลสั่งก็จะส่งตัวมาที่ศูนย์ฝึกเฉพาะทางที่ดูแลเด็กเยาวชนที่มีปัญหาสุขภาพจิต โดยจะมีแพทย์เฉพาะทาง โปรแกรมพัฒนาพฤตินิสัย เพื่อส่งเสริมด้านการบำบัดให้เด็กได้พัฒนาตัวเอง เห็นคุณค่าของตัวเอง และไม่หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำ. -สำนักข่าวไทย