7 ธ.ค. – กรมสุขภาพจิต ย้ำโรคจิตเวชทุกโรคหาก รู้เร็ว รักษาเร็วและต่อเนื่อง จะช่วยให้ผู้ป่วยยังมีความสามารถในการใช้ชีวิตได้ หมั่นสังเกตสัญญาณเตือนคนใกล้ชิดเพื่อห่างไกลจากปัญหาอาการกำเริบจากการขาดการรักษา
จากการแสดงความความคิดเกี่ยวกับประเด็นผู้ที่มีอาการทางจิตเวชต้องได้รับการฟ้องร้องจากหน่วยงานเนื่องจากไม่สามารถทำงานได้ในสังคมนั้น ยังมีความเข้าใจไม่ถูกต้อง เกี่ยวกับ “โรคจิตเวช” และนำไปสู่การตีตราผู้ป่วยจิตเวชที่รักษาอย่างต่อเนื่อง พร้อมชี้หลักการรักษาโรคทางจิตเวชทุกโรคคือ รู้เร็ว รักษาเร็ว รักษาต่อเนื่อง ทำให้ผลการรักษาดี ซึ่งส่งผลต่อการกลับสู่ความสามารถปกติของผู้ป่วย ในด้านความคิดตัดสินใจ อารมณ์ สังคม การเรียน และการใช้ชีวิตประจำวัน โดยครอบครัวร่วมสอดส่องการมีอาการที่เป็นสัญญาณเตือนให้เข้าสู่ระบบการรักษาก่อนสายเกินไป
นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตให้ความสำคัญและเน้นย้ำการป้องกันปัญหาของผู้ป่วยโรคจิตเวช โดยที่สำคัญคือเพิ่มการเข้าถึงบริการรักษาโดยใช้ยาและบำบัดทางจิตและฟื้นฟูสมรรถภาพ เพื่อคืนสู่ชีวิตปกติของเขา โดยทั่วไป ผู้ป่วยโรคจิตเวชส่วนใหญ่สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้การดูแลของญาติหรือบุคคลใกล้ชิดที่บ้านและชุมชน โดยใช้ยาปรับสมดุลการทำงานของสารสื่อประสาทในสมอง ทำให้อาการทางจิตดีขึ้นหรือหาย สามารถใช้ชีวิตและทำงานได้ ทั้งนี้ 3 สิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยจิตเวชไม่เกิดอาการกำเริบ คือ 1.กินยาต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดเอง แม้อาการจะดีขึ้นแล้ว 2.ไม่ใช้สารเสพติดทุกชนิด เช่น เหล้า บุหรี่ ยาบ้า และ 3.ไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อปรับการรักษา หากปฏิบัติตามที่กล่าวมา ปัญหาอาการกำเริบน้อยลงและมีโอกาสป่วยซ้ำลดลงหรือหายทุเลา แต่หากปล่อยให้อาการกำเริบซ้ำแล้วซ้ำอีก จะมีโอกาสป่วยเรื้อรัง อาการจะเป็นๆ หายๆ จนรบกวนการใช้ชีวิต เช่นเดียวกับผู้ที่มีโรคประจำตัวทั่วไป โดยหลักการรักษาโรคทางจิตเวชทุกโรคคือ รู้เร็ว รักษาเร็วและต่อเนื่อง ผลการรักษาจะดี ทำให้ผู้ป่วยยังมีความสามารถในการคิด อารมณ์ สังคม การเรียน และการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติเช่นคนอื่น ๆ
นพ.ย์จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัญหาหลักที่ทำให้ผู้ป่วยจิตเวชอาการป่วยกำเริบซ้ำๆ ส่วนใหญ่คือการขาดยา สาเหตุที่ขาดยา คือ 1.ไม่ยอมกินยา เพราะคิดว่าไม่ได้ป่วย 2.กลัวเกิดผลข้างเคียงของยา 3.กลัวจะติดยา และ 4.คิดว่าตัวเองหายแล้ว การหยุดยาเองของผู้ป่วย ส่งผลให้อาการกลับมากำเริบและรุนแรงขึ้นกว่าเดิมส่งผลต่อการทำงาน ทั้งนี้ องค์กรควรมีระบบดูแลสุขภาพจิตของคนทำงาน ตั้งแต่การป้องกันไปจนถึงการรักษา นอกจากตรวจสุขภาพกายประจำปีแล้ว ควรมีการตรวจสุขภาพจิตประจำปีด้วย โดยหน่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ขององค์กรควรมีความเข้าใจเรื่องการดูแลสุขภาพจิตของคนทำงานทั้งกระบวนการ และใช้แนวคิดส่งเสริม ป้องกัน และนำเข้าสู่การรักษา ดำเนินการฟื้นฟูเมื่อดีขึ้น เพื่อให้สามารถทำงานได้ปกติ โดยเน้นย้ำว่าผู้ป่วยโรคจิตเวชสามารถกลับมาดีขึ้นได้และใช้ชีวิตได้ปกติ สามารถทำประโยชน์ให้สังคมได้เช่นกัน
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุภาพจิต กล่าวว่า โรคจิตเวชมีหลากหลายแต่สามารถแบ่งง่าย ๆ ออก เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ไม่รุนแรง แต่พบมาก เช่น โรควิตกกังวล กลุ่มนี้สามารถดำเนินชีวิตและทำงานได้ กลุ่มที่ 2 รุนแรง จนไม่สามารถใช้ชีวิตปกติขณะป่วยโดยเฉพาะโรคซึมเศร้า โรคจิต โรคอารมณ์ 2 ขั้ว โดยเฉพาะเมื่อไม่ได้รับหรือขาดการรักษาถ้ามีอาการขณะก่อเหตุ ทางกฎหมายพิจารณาให้บรรเทาโทษและให้รักษาได้ โดยโรคจิตเวชทุกคนสามารถเป็นได้และหายได้ และอาจจะเกิดจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม อาจจะสังเกตความผิดปกติของอาการโดยใช้ 5 สัญญานเตือน ที่ว่า ไม่หลับไม่นอน เดินไปเดินมา พูดจาคนเดียว หงุดหงิดฉุนเฉียว เที่ยว ครอบครัวมีส่วนช่วยสำคัญ ประกอบกับการกินยารักษาอาการตามแพทย์สั่งร่วมด้วย ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิต ร่วมกับคนในสังคมได้ แต่หากผู้ป่วยขาดยา ไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่องไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ อาจไปก่อเหตุกับผู้อื่น ซึ่งจะเกิดปัญหาต่อไป
กรมสุภาพจิตขอให้ประชาชนทุกคนช่วยกันสังเกตคนใกล้ชิด หากพบผู้ป่วยที่เข้าข่ายหรือมีสัญญาณเตือน ควรสนับสนุนให้เข้าสู่กระบวนการรักษา หรือ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อการรักษาต่อไป เพื่อให้คนที่ที่ทุกคนรักสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติและมีความสุขโดยประชาชนสามารถขอรับคำปรึกษาที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง. -สำนักข่าวไทย