นนทบุรี 15 พ.ค. – ภาครัฐ-ภาคเอกชน จับมือปั้นผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาโรค ไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs หวังช่วยคนไทย ลดการสูญเสีย ที่คร่าชีวิต ปีละกว่า 400,000 ราย สูญเสียต้นทุนทางเศรษฐกิจกว่า 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี
กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ บริษัท โฮปฟูล จำกัด เปิดเวทีอบรมเชิงวิชาการ “UNLOCK YOUR HEALTH: Mastering Sustainable Well-being – ปลดล็อกศักยภาพสู่ความเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพอย่างยั่งยืน” นายแพทย์รุ่งฤทัย มวลประสิทธิ์พร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า การสร้างสุขภาพดีให้เกิดขึ้นในสังคมไทย จำเป็นต้องเริ่มจาก ‘คน’ และ ‘ความรู้’ ซึ่งเป็นรากฐานของการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน กระทรวงสาธารณสุขจึงให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรทั้งในและนอกระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาให้สามารถเป็นผู้นำด้านสุขภาพในระดับครอบครัวและชุมชนได้อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
“โครงการในวันนี้ ถือเป็นต้นแบบของภาคเอกชนที่มีความตื่นตัวและร่วมขับเคลื่อนนโยบายของรัฐในด้านการป้องกันโรค NCDs ด้วยแนวคิด 3 อ. – อาหาร อารมณ์ และออกกำลังกาย ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนไทยให้ห่างไกลโรคเรื้อรังอย่างยั่งยืน” นายแพทย์รุ่งฤทัย กล่าวเพิ่มเติม


ด้านนายอรรคพล หยกยิ่งยง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โฮปฟูล จำกัด กล่าวถึงการส่งเสริมสุขภาพว่าไม่ใช่เพียงความรับผิดชอบของภาครัฐ แต่เป็นพันธกิจร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะองค์กรเอกชนอย่าง HOPEFUL ที่เป็นบริษัท พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ต้องการเห็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง หากพนักงานเข้าใจหลักการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้อง ก็จะสามารถเข้าไปช่วยเหลือในฐานะผู้เชี่ยวชาญการดูแลสุขภาพที่ผ่านการอบรม และมีความเข้าใจในการดูแล พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้คนหันมาดูแลสุขภาพอย่างจริงจัง โดยผู้เชี่ยวชายเหล่านี้ จะเป็นตัวแทนส่งต่อคุณค่าในด้านการดูแลสุขภาพ ไปยังครอบครัวและสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม
“บริษัทมีแผนระยะยาวมุ่งเน้นการสร้าง “องค์กรสุขภาพดี” และพร้อมขยายความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อร่วมกันสร้างสังคมสุขภาวะในอนาคต โดยทางโฮปฟูล จำกัด ได้ส่งบุคลากรกว่า 300 คนเข้าร่วมอบรมเชิงลึก เพื่อยกระดับสู่การเป็น “ที่ปรึกษาด้านสุขภาพ” ที่สามารถนำความรู้ไปปรับใช้ได้จริง ทั้งกับตนเอง ครอบครัวและชุมชน จากปัจจุบันที่มีผู้เชี่ยวชาญแล้ว 600 คน คาดว่าจะเพิ่มเป็น 1,000 คนภายในสิ้นปีนี้ กระจายตัวใน 23 สาขา และเตรียมจัดทำเป็นคู่มือ เพื่อมอบให้กับผู้ที่มีภาวะเสี่ยง หรือเป็น โรค NCDs โดยบริษัทมีแผนให้มีผู้เชี่ยวชาญในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ”นายอรรคพล กล่าวเพิ่มเติม
โดยภายในงานสัมมนา ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้จากหัวข้อสำคัญ ได้แก่ อาหาร แนะแนวทางการลดโซเดียม เพิ่มโปรตีนคุณภาพสูง และเลือกไขมันดี เช่น น้ำมันมะกอก ปลา และถั่ว เพื่อปรับพฤติกรรมการกินอย่างเหมาะสม, อารมณ์ เรียนรู้เทคนิคจัดการความเครียด และส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดี ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันสำคัญของร่างกาย ,ออกกำลังกาย ปรับพฤติกรรมให้เคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ เพื่อป้องกันโรคหัวใจ เบาหวาน และมะเร็งบางชนิด

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข กำลังผลักดันให้ การแก้ปัญหาโรคNCDs เป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน ลดจำนวนคนป่วยรายใหม่ นำไปสู่การช่วยลดงบฯในการรักษา จากปัจจุบันนี้ต้องใช้งบประมาณเฉพาะค่ารักษาพยาบาลราว 1.5 แสนล้านบาทต่อปี โดยคาดการณ์ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้จาก ปัจจุบัน มีผู้ป่วย เบาหวาน 6.5 ล้านคน ความดัน 14 ล้านคน โรคไตทุกระยะ ประมาณ 1 ล้านคน มะเร็งรายใหม่ 1.4 แสนคนต่อปี และมีปัญหาสุขภาพจิต สูงถึง 10 ล้านคน โดยในปี 2562 มีงานวิจัยของสธ. ร่วมกับองค์การอนามัยโลก(WHO) บ่งชี้ว่า คนไทยเสียชีวิต เพราะ NCDs ปีละกว่า 400,000 ราย และสูญเสียต้นทุนทางเศรษฐกิจ กว่า 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี แบ่งเป็น ค่ารักษาพยาบาลทางตรง จำนวน 139,000 ล้านบาท และความสูญเสียทางอ้อม จำนวน 1.5 ล้านล้านบาท.-511-สำนักข่าวไทย