05 ตุลาคม 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
บทสรุป :
งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในคืนพระจันทร์เต็มดวงมาจากตัวแปรต่าง ๆ เช่น ความสว่างของแสงจันทร์และผู้คนจำนวนมากที่ออกมาทำกิจกรรมในยามค่ำคืน
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีความเชื่อว่าการก่ออาชญากรรมและการเกิดอุบัติเหตุจะเพิ่มขึ้นอย่างผิดสังเกตในคืนพระจันทร์เต็มดวง
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
ความเชื่อในกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมือง
ผลการสำรวจโดยสำนักงานตำรวจซัสเซกซ์ ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2007 พบว่า การก่ออาชญากรรมจะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงพระจันทร์เต็มดวง
ตัวแทนทีมวิจัยของสำนักงานตำรวจซัสเซกซ์ ให้ความเห็นต่อสำนักข่าว BBC ว่า ปรากฏการณ์เหล่านั้นเป็นสิ่งที่พบเห็นมาตลอด 19 ปีของการทำหน้าที่ตำรวจ ในคืนพระจันทร์เต็มดวง ผู้คนส่วนใหญ่จะอารมณ์ฉุนเฉียวกว่าปกติและมีปากเสียงง่ายกว่าปกติ จึงจำเป็นต้องระดมกำลังตำรวจเพิ่มขึ้นคืนพระจันทร์เต็มดวงเพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น
เช่นเดียวกับรายงานข่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจของรัฐโอไฮโอและเคนตักกี เคยอ้างว่ามีการก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้นในคืนพระจันทร์เต็มดวงเช่นกัน
แม้แต่ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของนิวซีแลนด์ ก็เคยอ้างว่า ปัจจัยที่ทำให้การก่ออาชญากรรมด้วยของมีคมเพิ่มขึ้น น่าจะมีผลจากคาบการโคจรของดวงจันทร์มาแล้ว
เคยมีรายงานพบความเชื่อมโยงระหว่างคาบการโคจรของดวงจันทร์และความถี่ของการคดีฆาตกรรมในเมืองไมอามี-เดด รัฐฟลอริดา แต่หลังจากวิเคราะห์แล้วพบว่าข้อมูลมีความผิดพลาด ซึ่งเกิดจากกระบวนการรวบรวมสถิติที่ไม่เหมาะสมและก่อให้เกิดความเข้าใจผิด
งานวิจัยเกี่ยวกับอุบัติเหตุในคืนพระจันทร์เต็มดวง
งานวิจัยในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1982 พบว่า การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนเพิ่มขึ้นอย่างมากในคืนพระจันทร์เต็มดวง
อย่างไรก็ดี ในช่วงปี 1981-1982 พบว่าครึ่งหนึ่งของคืนพระจันทร์เต็มดวงจะตรงกับช่วงสุดสัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงที่การจราจรคับคั่ง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่อุบัติเหตุทางรถยนต์จะมีมากกว่าปกติ เมื่อผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูลอีกครั้งด้วยการตัดตัวแปรเรื่องวันหยุดในคืนพระจันทร์เต็มดวงออกไป จำนวนอุบัติเหตุในคืนพระจันทร์เต็มดวงก็แทบไม่ต่างจากวันอื่น ๆ
งานวิจัยปี 2017 ได้รวบรวมอุบัติเหตุจากการขับขี่จักรยานยนต์ยามค่ำคืน (ช่วง 4 โมงเย็นถึง 8 โมงเช้า) ในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1975-2014 หรือ 40 ปี
ผลวิจัยพบว่า ในคืนที่เกิดอุบัติเหตุ 1,482 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 13,029 ราย
แบ่งเป็นกลุ่มผู้เสียชีวิต 4,494 รายในคืนพระจันทร์เต็มดวง 494 คืน (สัดส่วนผู้เสียชีวิต 9.1 รายต่อคืน)
และกลุ่มผู้เสียชีวิต 8,535 รายในคืนพระจันทร์ไม่เต็มดวง 988 คืน (สัดส่วนผู้เสียชีวิต 8.64 รายต่อคืน)
เท่ากับว่าการขับขี่จักรยานยนต์ในคืนพระจันทร์เต็มดวงมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุจนเสียชีวิตมากกว่าที่ 5.3%
อย่างไรก็ดี ผู้วิจัยย้ำว่าปัจจัยน่าจะมาจากหลาย ๆ ตัวแปร อาทิ แสงจากดวงจันทร์เต็มดวงรบกวนทัศนวิสัยของผู้ขับขี่ในยามคับขัน เช่น ระหว่างหักเลี้ยวหรือขับขึ้นเนิน และการที่ผู้คนจำนวนมากนิยมทำกิจกรรมนอกบ้านในคืนพระจันทร์เต็มดวง เช่น การเดินทางไกลที่ใช้ความเร็วมากกว่าปกติหรือการใช้เส้นทางที่ไม่คุ้นเคย ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุเช่นกัน
ผลกระทบต่อสัตว์ในคืนวันเพ็ญ
ยังมีการสำรวจที่พบว่า ในช่วงก่อนและหลังคืนพระจันทร์เต็มดวง จำนวนสุนัขและแมวจะถูกส่งไปรักษาตัวในห้องฉุกเฉินมากกว่าปกติ รวมถึงการพบว่าคนถูกแมลงกัดบ่อยขึ้นในคืนพระจันทร์เต็มดวง
ปัจจัยดังกล่าว น่าจะมาจากความสว่างในยามราตรีของคืนวันเพ็ญ ทำให้สัตว์เลี้ยงถูกปล่อยให้อยู่นอกบ้านนานกว่าปกติและเพิ่มโอกาสการประสบอุบัติเหตุได้ เช่นเดียวกับการทำกิจกรรมนอกบ้านในคืนพระจันทร์เต็มดวง ก็เพิ่มโอกาสการถูกแมลงกัดต่อยเช่นเดียวกัน
ข้อมูลอ้างอิง :
https://en.wikipedia.org/wiki/Lunar_effect
https://www.scientificamerican.com/article/lunacy-and-the-full-moon/
https://www.rd.com/list/full-moon-myths/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter