กรุงเทพฯ 5 ก.ย.-กระทรวงการคลัง เร่งกลุ่มอุทธรณ์ บัตรสวัสดิการฯกลุ่มตกค้าง ตรวจการครอบครองอสังหาฯ
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หลังจากประกาศผลการพิจารณาคุณสมบัติสำหรับรอบอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 แล้วนั้น ต่อมากระทรวงการคลังได้ตรวจสอบพบว่า ผลการพิจารณาคุณสมบัติด้านอสังหาริมทรัพย์สำหรับรอบอุทธรณ์อาจจะยังไม่สมบูรณ์ครบถ้วน ดังนั้น เพื่อประโยชน์แก่ผู้ขออุทธรณ์ คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้มีการตรวจสอบความถูกต้องของคุณสมบัติด้านอสังหาริมทรัพย์อีกครั้ง
คุณสมบัติกลุ่มดังกล่าวเพิ่มเติมแล้วเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 และวันที่ 28 สิงหาคม 2566 มีผู้ผ่านการตรวจคุณสมบัติรอบอุทธรณ์เพิ่มเติม จำนวน 1,830 ราย และ 114 ราย ตามลำดับ ผู้ที่ยื่นขออุทธรณ์และดำเนินการแล้วเสร็จตามขั้นตอนการอุทธรณ์ผลการพิจารณาคุณสมบัติตามโครงการฯ ภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 สามารถตรวจสอบผลการพิจารณาคุณสมบัติได้ 3 ช่องทาง ดังนี้
1. ตรวจสอบผลการพิจารณาคุณสมบัติด้วยตนเอง ผ่านทางเว็บไซต์ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือ https://welfare.mof.go.th ได้ตั้งแต่เวลา 06.00 น. ถึง 23.00 น. ของทุกวัน
2. ตรวจสอบผลการพิจารณาคุณสมบัติผ่านหน่วยงานรับลงทะเบียนทั้ง 7 หน่วยงาน ได้แก่ สาขาของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (ธนาคารกรุงไทยฯ) สำนักงานคลังจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ ที่ว่าการอำเภอทั้ง 878 อำเภอ ทั่วประเทศ สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร ทั้ง 50 เขต และศาลาว่าการเมืองพัทยา
3. โทรศัพท์สอบถามได้ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และ Call Center โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในวันและเวลาทำการของแต่ละหน่วยงาน
ทั้งนี้ หากผู้อุทธรณ์ตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติในรอบอุทธรณ์เพิ่มเติม ขอให้ดำเนินการ ดังนี้
1. ผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติดำเนินการยืนยันตัวตนได้ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เท่านั้น โดยจะต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนอเนกประสงค์ (Smart Card) เพื่อใช้ในการยืนยันตัวตนด้วย ซึ่งการให้บริการยืนยันตัวตนจะเป็นไปตามวันและเวลาทำการของธนาคาร
2. เมื่อยืนยันตัวตนเสร็จเรียบร้อยแล้วจะสามารถตรวจสอบสถานะการยืนยันตัวตนของตนเอง ผ่านทางเว็บไซต์ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือ https://welfare.mof.go.th หรือติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่หน่วยงานรับลงทะเบียนทั้ง 7 หน่วยงาน หรือโทรศัพท์สอบถามได้ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามเวลาทำการของแต่ละหน่วยงานได้ในวันถัดไป
3. ผู้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติดำเนินการผูกบัญชีพร้อมเพย์กับหมายเลขประจำตัวประชาชนเพื่อเป็นการเตรียมการรองรับการรับสิทธิสวัสดิการ โดยสามารถผูกบัญชีพร้อมเพย์กับธนาคารใดก็ได้ ทั้งนี้ การผูกบัญชีพร้อมเพย์ไว้ล่วงหน้า จะทำให้ผู้ได้รับสิทธิสามารถรับสิทธิสวัสดิการในกรณีที่ภาครัฐมีสวัสดิการที่จะโอนเข้าบัญชีในอนาคตได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
4. ผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติรอบอุทธรณ์เพิ่มเติมทั้ง 2 รอบสามารถดำเนินการยืนยันตัวตนตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดเพื่อเริ่มใช้สิทธิสวัสดิการแห่งรัฐตามที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยมีรายละเอียด วันที่ยืนยันตัวตน วันเริ่มใช้และสิทธิย้อนหลัง ดังนี้
4.1 ผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติรอบอุทธรณ์เพิ่มเติมที่ประกาศผลเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 และดำเนินการยืนยันตัวตนภายในวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 และตรวจสอบพบว่า ผ่านการยืนยันตัวตน (e-KYC) จะสามารถใช้สิทธิสวัสดิการผ่านบัตรประจำตัวประชาชนได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2566 แต่หากผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติยืนยันตัวตนหลังวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 จะสามารถใช้สิทธิสวัสดิการแห่งรัฐตามที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยมีรายละเอียดวันที่ยืนยันตัวตน วันเริ่มใช้สิทธิได้ และสิทธิที่ได้ย้อนหลังดังนี้
4.2 ผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติรอบอุทธรณ์เพิ่มเติมที่ประกาศผลเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2566 และดำเนินการยืนยันตัวตนภายในวันที่ 28 สิงหาคม – 26 กันยายน 2566 และตรวจสอบพบว่าผ่านการยืนยันตัวตน (e-KYC) จะสามารถใช้สิทธิสวัสดิการผ่านบัตรประจำตัวประชาชนได้ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2566 แต่หากผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติยืนยันตัวตนหลังวันที่ 26 กันยายน 2566 จะสามารถใช้สิทธิสวัสดิการแห่งรัฐตามที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยมีรายละเอียดวันที่ยืนยันตัวตน วันเริ่มใช้สิทธิได้ และสิทธิที่ได้ย้อนหลังดังนี้
ทั้งนี้ สำหรับวงเงินสิทธิสวัสดิการย้อนหลัง จะได้เฉพาะวงเงินในส่วนของการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น และร้านอื่น ๆ ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด (ร้านธงฟ้าฯ) (จำนวน 300 บาทต่อคนต่อเดือน) เท่านั้น และกรณีมีวงเงินคงเหลือจะไม่มีการสะสมไปในเดือนถัดไป
โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติที่ไม่สามารถดำเนินการยืนยันตัวตนได้ด้วยตนเอง ได้แก่ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางมายืนยันตัวตนได้ด้วยตนเอง สามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมายืนยันตัวตนแทนได้ โดยจะต้องใช้เอกสาร ดังต่อไปนี้
- 1. บัตรประจำตัวประชาชนผู้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติ (ผู้ได้รับสิทธิ)
- 2. หนังสือมอบอำนาจการยืนยันตัวตน (สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ของโครงการฯ)
- 3. บัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอบอำนาจ
- 4. บัตรประจำตัวคนพิการ (ถ้ามี) หรือใบรับรองแพทย์ (ถ้ามี)
- 5. ใบสำคัญการหย่าหรือ ใบมรณบัตร หรือหนังสือรับรองการตาย หรือทะเบียนบ้านที่มีการจำหน่ายตาย(เฉพาะผู้ผ่านเกณฑ์แบบมีเงื่อนไขที่ได้ยื่นเอกสารหนังสือประกอบการพิจารณา กรณีผู้ลงทะเบียนไม่สามารถติดตามคู่สมรสมาเพื่อดำเนินการหย่าตามกฎหมายได้ แบบฟอร์มที่ 2)
สำหรับความคืบหน้าการยืนยันตัวตนของผู้ที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติ (ผู้ผ่านเกณฑ์) ตามโครงการฯ ที่ดำเนินการยืนยันตัวตนแล้ว มีผู้ผ่านเกณฑ์ที่ยืนยันตัวตนสำเร็จ จำนวนทั้งสิ้น 13,809,073 ราย หรือคิดเป็น ร้อยละ 91.80 ของจำนวนผู้ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด (ข้อมูล ณ วันที่ 4 กันยายน 2566) โดยผู้ผ่านเกณฑ์ที่ยังไม่ได้ดำเนินการยืนยันตัวตนยังคงสามารถยืนยันตัวตนได้ที่ธนาคารกรุงไทยฯ ตามวันและเวลาทำการของธนาคาร
ความคืบหน้าการใช้สิทธิภายใต้โครงการฯ ผ่านบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติตามโครงการฯ ที่ยืนยันตัวตนสำเร็จภายในวันที่ 26 สิงหาคม 2566 (ผู้มีสิทธิฯ) โดยมีมูลค่าการใช้สิทธิสะสมตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน – 5 กันยายน 2566 เวลา 12.00 น. จำนวนกว่า 2,929.10 ล้านบาท จากผู้มีสิทธิฯ จำนวนกว่า 9.8 ล้านราย โดยส่วนใหญ่จะเป็นการใช้สิทธิในวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นจากร้านธงฟ้าฯ จำนวน 2,906.68 ล้านบาท วงเงินรวมค่าเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะ จำนวน 15.92 ล้านบาท และวงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าตามที่กระทรวงพลังงานกำหนด จำนวน 6.5 ล้านบาท ตามลำดับ
ทั้งนี้ สำหรับข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดโครงการฯ ประชาชนสามารถติดตามได้เพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือ https://welfare.mof.go.th
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลัง ยังเดินหน้า นโยบาย “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” เพื่อช่วยดูแลผู้มีรายได้น้อย จึงไม่ต้องวิตกกังวล ว่ารัฐบาลจะยกเลิกสิทธิผ่าน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เตรียมหารือกับหลายหน่อยงาน เกี่ยวกับ “บัตรสวัสดิการฯ ในเร็ว ๆ นี้
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยืนยันด้วยว่า นโยบาย “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” เพื่อดูแลผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ยังคงมีอยู่ เพราะเรื่องนี้ถือเป็นการช่วยเหลือดูแลประชาชนที่ยังได้รับความเดือดร้อน หากยกเลิกนโยบายนี้ลงไปจะทำให้เกิดผลกระทบได้.-สำนักข่าวไทย