กรุงเทพฯ 18 ก.ค. – อธิบดีกรมปศุสัตว์ยืนยัน ไม่มีการสวมสิทธิ์การส่งออกชิ้นส่วนไก่ ตามที่มีข่าวระบุว่า มีการนำชิ้นส่วนไก่ที่ไม่ได้มาตรฐานมาปลอมแปลงใบรับรองสุขอนามัยเพื่อส่งออกไปจีน โดยอ้างว่าเป็นกระบวนการที่เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ร่วมด้วย ย้ำกำกับดูแลตลอดห่วงโซ่การผลิต ตรวจสอบย้อนได้ เป็นไปตามกฎหมายและเงื่อนไขของประเทศคู่ค้า โดย 5 เดือนแรกของปี 2566 ยอดส่งออกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สอดคล้องกับจำนวนไก่เนื้อเข้าเลี้ยง
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงข่าวที่ปรากฏในสื่อออนไลน์แห่งหนึ่งว่า มีกระบวนการสวมสิทธิ์การส่งออกชิ้นส่วนไก่ ซึ่งมีการนำชิ้นส่วนไก่ที่ไม่ได้มาตรฐานเตรียมส่งออกไปยังจีน โดยปลอมแปลงใบรับรองสุขอนามัย (Health Certificate) ซึ่งกระบวนการดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์เกี่ยวข้อง พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การจับกุมการลักลอบขนย้ายชิ้นส่วนไก่ซึ่งเตรียมส่งออกได้ที่จังหวัดชลบุรี ส่งผลให้ผู้กระทำความผิดไม่สามารถส่งออกได้ จึงต้องมาประกาศขายภายในประเทศผ่านช่องทางออนไลน์ นอกจากนี้ยังระบุว่า ยอดการส่งออกชิ้นส่วนไก่ไปยังประเทศจีนของปีที่แล้วกับปีนี้สูงขึ้นกว่า 100% ซึ่งสวนทางกับจำนวนลูกไก่ลดลงจึงเชื่อว่า มีกระบวนการสวมสิทธิ์ส่งออกนั้น
กรมปศุสัตว์ยืนยันว่า กระบวนการสวมสิทธิ์การส่งออกชิ้นส่วนไก่ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากในกระบวนการผลิตและส่งออกชิ้นส่วนไก่ตั้งแต่การฆ่าและชำแหละ การขนส่ง จนกระทั่งการออกใบรับรองสุขอนามัย (Health Certificate) มีการกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ผู้รับผิดชอบในแต่ละขั้นตอน ตลอดห่วงโซ่การผลิต และมีการหมุนเวียนเจ้าหน้าที่รับผิดชอบประจำโรงฆ่าไก่ส่งออกเป็นระยะ สามารถตรวจสอบย้อนได้ทุกขั้นตอน ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย มาตรฐานสากล และเงื่อนไขของประเทศคู่ค้า อีกทั้งข้อมูลปริมาณลูกไก่เนื้อที่เข้าเลี้ยงในประเทศไทยไม่ได้ลดลงตามที่ระบุในข่าวแต่อย่างใด
ส่วนที่ตามข่าวปรากฏชื่อสัตวแพทย์ของกรมปศุสัตว์เป็นผู้ลงนามใบรับรองสุขอนามัย (Health Certificate) ที่มีการปลอมแปลงนั้น สัตวแพทย์ผู้ถูกปลอมแปลงลายมือชื่อได้ลงบันทึกประจำวันไว้กับพนักงานสอบสวนว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและลายมือชื่อดังกล่าวไม่ใช่ของตนเองแต่อย่างใด
อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยมอบหมายให้ด่านกักกันสัตว์ชลบุรี ทำหนังสือขอข้อมูล พยาน เอกสาร และหลักฐานต่างๆ ไปยังตำรวจชุดจับกุมของกองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี ได้แก่ หนังสือ Health Certificate ที่ปลอมแปลง ใบอนุญาตนำสัตว์และซากสัตว์ออกนอกราชอาณาจักร (ร.9) ใบขนสินค้าขาออก และอีเมล์ที่ทางการจีนยืนยันว่า มีเจ้าหน้าที่ไทยส่งไปเพื่อมาใช้ประกอบการพิจารณาตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ที่เกี่ยวข้อง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมได้ตอบเป็นหนังสือมายังด่านกักกันสัตว์ชลบุรีว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่มีเอกสารข้อมูลดังกล่าวแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามหากกรมปศุสัตว์ตรวจสอบพบเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์มีส่วนเกี่ยวข้องในภายหลัง จะดำเนินการสอบสวนและลงโทษตามระเบียบราชการอย่างเด็ดขาดต่อไป
สำหรับยอดการส่งออกไก่ไปยังจีนที่สูงขึ้นนั้น สอดคล้องกับจำนวนไก่เนื้อที่เข้าเลี้ยงของ 5 เดือนแรกในปี 2566 (ม.ค. – พ.ค.) เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ 5 เดือนแรกของปี 2565 (ม.ค. – พ.ค.) โดยจำนวนไก่เนื้อเข้าเลี้ยง 5 เดือนแรก (ม.ค. – พ.ค.) ของปี 2565 รวม 790,458,861 ตัว ส่วน 5 เดือนแรก (ม.ค. – พ.ค.) ของปี 2566 รวม 824,194,735 ตัว เพิ่มขึ้น 4.27 % ส่วนยอดการส่งออกของชิ้นส่วนไก่ไปยังประเทศจีนในปี 2566 ใน 5 เดือนแรก (ม.ค. – พ.ค.) ปริมาณ 47,629 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2565 (ม.ค. – พ.ค.) ปริมาณ 23,063 ตัน เพิ่มขึ้น 24,566 ตัน คิดเป็น 106% โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 มีโรงงานที่ประเทศจีนอนุญาตให้ส่งออกได้เพียง 11 แห่ง แต่ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 มีโรงงานที่ประเทศจีนอนุญาตให้ส่งออกได้เพิ่มขึ้นรวมเป็น 19 แห่ง จึงเป็นเหตุให้ยอดการส่งออกช่วงต้นปี 2566 สูงกว่าปี 2565 ดังกล่าว
อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวต่อไปว่า จากการนำคณะเดินทางไปหารือกับกรมความปลอดภัยอาหารนำเข้าและส่งออกของจีนในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา Mr. Wang Fuxiao รองอธิบดีกรมความปลอดภัยอาหารนำเข้าและส่งออก สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Bureau of Import and Export Food Safety, The General Administration of Customs of People’s Republic of China: GACC) ยังกล่าวชื่นชมและขอบคุณกรมปศุสัตว์ไทยที่ให้ความร่วมมือกำกับดูแลตรวจสอบสุขอนามัยการผลิตเนื้อและชิ้นส่วน รวมถึงผลพลอยได้สัตว์ปีกแช่แข็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามข้อกำหนดของพิธีสารระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทยกับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยหลักเกณฑ์การตรวจสอบ การกักกัน และสุขอนามัยทางสัตวแพทย์ เพื่อการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกแช่แข็งและชิ้นส่วนสัตว์ปีกจากประเทศไทยไปยังประเทศจีน จนส่งผลให้การส่งออกเนื้อและชิ้นส่วนไก่แช่แข็งจากไทยมาจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดจีนอนุญาตขยายขอบข่ายชิ้นส่วนและเครื่องในเป็ดเพิ่มอีกด้วย
พร้อมกันนี้เน้นย้ำว่า กรมปศุสัตว์กำกับดูแลและตรวจสอบกระบวนการผลิตสินค้าปศุสัตว์ให้ถูกสุขลักษณะ ได้คุณภาพ และมาตรฐานตามระบบ GMP และ HACCP ตามมาตรฐานระดับโลก พร้อมขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการโรงงานไก่ส่งออกที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังและตรวจสอบการซื้อขายชิ้นส่วนไก่และผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะการขายผ่านช่องทางออนไลน์ หากพบความผิดปกติ หรือมีการปลอมแปลงผลิตภัณฑ์ของตนเองให้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง และ/หรือแจ้งมายังสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ เพื่อตรวจสอบขยายผลการกระทำผิดต่อไป นอกจากนี้อาจมีผู้แอบอ้างหรือปลอมแปลงเอกสารราชการของกรมปศุสัตว์ เพื่อหลอกลวงในการขายชิ้นส่วนไก่ส่งออกไปประเทศจีน กรมปศุสัตว์ขอเตือนอย่าหลงเชื่อ และขอให้ตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องกับสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ ก่อนทำการตกลงซื้อขาย หมายเลขโทรศัพท์02-6534444 ต่อ 3134 อีเมล์ certify10@dld.go.th หรือแจ้งเบาะแสข้อมูลผ่านทางแอพพลิเคชัน DLD 4.0 ได้ตลอดเวลา.-สำนักข่าวไทย