กรุงเทพฯ 11 พ.ย. – กรมปศุสัตว์จ่อขยายผลตรวจสอบฉาก “แมวส้ม” ตายในละคร “แสงสูรย์” ซึ่งปรากฏภาพแมวสำรอกอาหาร ก่อนแน่นิ่งไป หากพบมีการวางยาสลบ เช่นเดียวกับ “แมวดำ” ในละคร “แม่หยัว” อาจเข้าข่ายทารุณกรรมสัตว์ด้วย ส่วนออกหนังสือเรียกผู้เกี่ยวข้องกับละครแม่หยัว นัดเข้าให้ข้อมูลแก่พนักงาน 18 พ.ย.นี้ ทั้งยังต้องนำแมวที่เข้าฉากมาให้ตรวจสอบสุขภาพด้วย
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์มอบหมายให้นายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์แถลงถึงการตรวจสอบละคร “แม่หยัว” ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่องวัน 31 โดยมีฉากที่ “แมวถูกวางยา” ซึ่งในฉากแมวดำมีอาการ ตัวกระตุก ตัวเกร็ง พร้อมทั้งมีการขย้อนอาหารออกมา ว่าอาจเข้าข่ายทารุณกรรมสัตว์หรือไม่ ขณะนี้กรมปศุสัตว์ได้มอบหมายให้กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการส่งหนังสือถึงสถานีโทรทัศน์เพื่อให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ในวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริงในกรณีการวางยาสลบแมวเพื่อการแสดงว่าเข้าข่ายการกระทำผิดตาม พ.ร.บ. ป้องกันทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 หรือไม่ ส่วนการกระทำความผิดตามกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ. วิชาชีพการสัตวแพทย์ พ.ศ. 2545 หรือ พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องต่อไป
นอกจากนี้ยังต้องนำแมวตัวที่เข้าฉากมาให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบด้วย โดยต้องตรวจสอบว่า เป็นแมวตัวเดียวกันหรือไม่ หากเป็นตัวเดียวกัน สุขภาพเป็นอย่างไร
พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 มีบทบัญญัติตามมาตรา 24 กำหนดให้เจ้าของสัตว์หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องจัดสวัสดิภาพให้เหมาะสมสำหรับการนำสัตว์ไปใช้งานหรือใช้ในการแสดง แม้ยังไม่มีการกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติในการนำสัตว์มาใช้ในการแสดงไว้เป็นการเฉพาะ แต่เจ้าของสัตว์หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องปฏิบัติโดยมีหลักการจัดสวัสดิภาพสัตว์กล่าวคือ การใช้งานสัตว์ต้องมีการจัดสวัสดิภาพสัตว์ที่เหมาะสม ทั้งอาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย การแสดงออกซึ่งพฤติกรรมธรรมชาติ ได้รับการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม ไม่ทำให้สัตว์เกิดความหวาดกลัวหรือระแวง ไม่ควรนำสัตว์ไปทำงานอันไม่สมควรที่อาจทำให้สัตว์นั้นเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตซึ่งอาจเข้าข่ายการทารุณกรรมสัตว์
สำหรับการกระทำใดๆ ต่อร่างกายสัตว์ ที่เข้าลักษณะการประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์ ต้องกระทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพสัตวแพทย์ โดยข้อยกเว้นตามมาตรา 21 (7) (10) และ (11) แห่งพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ต้องเป็นการกระทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ หรือ การกระทำอื่นใดที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ หรือ การกระทำอื่นใดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นของคณะกรรมการป้องกันทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์โดยกองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ ในฐานะเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในความรับผิดชอบตามกฎหมายฉบับนี้ จะดำเนินการใช้อำนาจตามมาตรา 25 (1) มีหนังสือเรียกเจ้าของสัตว์ ผู้แทนองค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์ ผู้ดูแลสถานสงเคราะห์สัตว์หรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคํา หรือให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริง ทั้งนี้หากพบว่ามีความผิดตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้หากเจ้าของสัตว์ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตรามมาตรา 22 มาตรา 24 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทซึ่งหากพบว่า มีการกระทำผิดจริงทางกรมปศุสัตว์จะดำเนินการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนต่อไป
ส่วนกรณีที่สังคมตั้งข้อสงสัยเพิ่มเติมถึงละคร “แสงสูรย์” ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เดียวกัน มีฉากแมวส้มถูกวางยา โดยมีอาการขย้อนอาหารออกมา จะต้องตรวจสอบเพิ่มเติม หากพบมีการกระทำต่อสัตว์อย่างไม่ถูกต้อง อาจเข้าข่ายกระทำผิดฐานทารุณกรรมสัตว์เช่นเดียวกัน
รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ย้ำว่า กรมปศุสัตว์ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 จะตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเป็นธรรมและโปร่งใส ให้ความคุ้มครองแก่สัตว์น้อยใหญ่ทุกตัว.- 512 – สำนักข่าวไทย