รู้จักกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานปางช้าง

กรุงเทพฯ 9 ต.ค. – กรมปศุสัตว์ ระบุมาตรฐานบังคับ เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง ซึ่งมีผลบังคับใช้ 19 ส.ค.67 ขณะนี้มีผู้ได้รับใบอนุญาตผู้ผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ 179 ราย และมีผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานแล้ว 54 ปาง กรมปศุสัตว์อยู่ระหว่างตรวจประเมินปางช้างที่เหลือให้ครบทุกปาง


นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กฎหมายว่าด้วยมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง มกษ 6413-2564 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2567 กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานรับรองมาตรฐานด้านปศุสัตว์และได้รับมอบหมายจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ให้เป็นผู้ออกใบอนุญาตผู้ผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้างได้เปิดให้ผู้ประกอบการปางช้างขอใบอนุญาตผู้ผลิตสินค้าเกษตรและขอรับรองมาตรฐานปางช้างซึ่งเป็นมาตรฐานบังคับแก่ผู้ประกอบการปางช้างทั่วประเทศ

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยและบริการสุขภาพช้างแห่งชาติ กรมปศุสัตว์ สำรวจข้อมูลที่อยู่หรือที่พักช้างทั่วประเทศพบว่า มี 236 แห่ง ซึ่งสถานที่ที่ประกอบกิจการเลี้ยงหรือรวบรวมช้างเพื่อการท่องเที่ยว การแสดง หรือประกอบกิจการอื่นที่แสวงหาประโยชน์จากช้าง ที่เข้าข่ายมาตรฐานบังคับ ได้รับใบอนุญาตผู้ผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง 179 แห่ง ส่วนผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานปางช้างมี 54 ปาง ที่เหลืออยู่ระหว่างตรวจประเมินให้ครบทุกราย


การออกใบอนุญาตผู้ผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับและใบรับรองมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง มกษ 6413-2564 มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการเลี้ยงและการจัดสวัสดิภาพช้าง ตลอดจนเป็นการป้องกันการทารุณกรรมช้างตามหลักสากล สืบเนื่องจากช้างมีบทบาทด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย และได้สร้างรายได้ที่สำคัญของประเทศ ทั้งในส่วนเศรษฐกิจ ภาพลักษณ์ และอัตลักษณ์ของการท่องเที่ยวของประเทศ จึงต้องกำหนดมาตรการความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว บุคลากรในปางช้างและช้าง การจัดการเลี้ยงที่ถูกต้อง การดูแลสวัสดิภาพและสุขภาพช้างให้เหมาะสม การป้องการทารุณกรรมช้าง ตลอดจนลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนในส่วนของการท่องเที่ยวที่เป็นระบบ

การกำหนดมาตรฐานปางช้างบังคับเป็นไปตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ปางช้างที่เข้าข่ายมาตรฐานบังคับได้แก่ สถานที่ที่ประกอบกิจการเลี้ยงหรือรวบรวมช้างเพื่อการท่องเที่ยว การแสดง หรือประกอบกิจการอื่นที่แสวงหาประโยชน์จากช้าง ไม่ว่าจะเก็บค่าดูหรือค่าบริการในทางตรงหรือทางอ้อมหรือไม่ก็ตาม หากผู้ประกอบการปางช้างไม่ได้รับใบอนุญาตผู้ผลิตฯ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท และไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานปางช้างต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท มาตรฐานบังคับดังกล่าวไม่ครอบคลุมถึงการเลี้ยงช้างในครัวเรือนและการเลี้ยงช้างไว้ใช้แรงงานเช่น การชักลาก อย่างไรก็ตาม เจ้าของช้างทุกรายจะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ด้วย

สำหรับการแบ่งประเภทปางช้าง สามารถแบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ แบ่งตามจำนวนช้างหรือตามลักษณะกิจกรรม
การแบ่งปางช้างตามจำนวนช้างมีดังนี้


  • ปางช้างขนาดเล็ก โดยมีช้างไม่เกิน 10 เชือก
  • ปางช้างขนาดกลาง โดยมีช้างตั้งแต่ 11 เชือก ถึง 30 เชือก
  • ปางช้างขนาดใหญ่ โดยมีช้างตั้งแต่ 31 เชือกขึ้นไป

การแบ่งปางช้างแบ่งตามลักษณะกิจกรรมมีดังนี้

  • ปางช้างแบบดั้งเดิมคือ ปางช้างที่มีกิจกรรมการขี่ช้างโดยนั่งบนแหย่งและ/หรือการชมการแสดงความสามารถของช้าง
  • ปางช้างแบบท่องเที่ยวเชิงนิเวศคือ ปางช้างที่มีกิจกรรมการขี่ช้างโดยนั่งบนแหย่ง หรือไม่มีแหย่ง หรือเดินไปด้วยกันกับช้าง หรือมีการให้ความรู้เรื่องช้างและการอนุรักษ์ช้าง
  • ปางช้างพิการหรือชราคือ ปางช้างที่มีการนำช้างพิการหรือช้างชรามาเลี้ยงและดูแล
  • ปางช้างแบบผสมผสานคือ ปางช้างที่รวมกิจกรรมของปางช้างแบบดั้งเดิมและปางช้างแบบท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และมีการปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับสถานการณ์

ขอบข่ายของมาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ. 6413) เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้างกำหนดใช้กับปางช้างที่เลี้ยงหรือรวบรวบช้างบ้านและกำหนดการปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้างเพื่อให้ช้างมีสุขภาพดี
องค์ประกอบของ “ปางช้าง” มีดังนี้

  1. มีสถานที่พักช้างเพื่อรอให้บริการหรือพักจากการบริการ โดยกรณีเป็นอาการพักช้าง ตองมีพื้นที่เพียงพอในการเลี้ยงช้างโดยคำนึงถึงหลักสวัสดิภาพสัตว์ ส่วนกรณีไม่ใช่อาคารพักช้างให้เลือกสถานที่พักช้างโดยคำนึงถึงพื้นที่ที่มีร่มเงาและมีแหล่งน้ำเพียงพอ
  2. มีพื้นที่พักผ่อนสำหรับช้างเพื่อใช้พักผ่อนในช่วงที่ไม่มีงานบริการหรือช่วงกลางคืนเช่น ล่ามไว้ในป่าธรรมชาติ พื้นที่โล่งภายในปางช้าง ใต้ต้นไม้ หรือในอาคารซึ่งมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 16 ตารางเมตรต่อเชือก โดยใช้เชือกมัดหรือใช้โซ่ยาวไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร หรือปล่อยช้างไว้ในพื้นที่ที่ที่มีขอบเขตป้องกันการหลุดของช้าง โดยคำนึงถึงพื้นพื้นที่ที่มีร่มเงาและมีแหล่งน้ำเพียงพอ รวมทั้งคำนึงถึงความปลอดภัยของช้างด้วย

การจัดการปางช้างมีข้อกำหนดดังนี้

  1. มีคู่มือการจัดการปางช้างที่แสดงให้เห็นรายละเอียดการปฏิบัติงานที่สำคัญภายในปางช้าง
  2. ให้ช้างได้รับอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และมีความเหมาะสม
  3. มีสถานที่เก็บอาหารแยกเป็นสัดส่วนและเก็บอาหารในสภาพที่ป้องกันการเสื่อมสภาพและการปนเปื้อน
  4. มีการจัดการให้ช้างทุกเชือกได้กินอาหารและน้ำอย่างเพียงพอและมีความหลากหลาย
  5. ทำความสะอาดอาคารพักช้าง บริเวณโดยรอบและอุปกรณ์อย่างสม่ำเสมอ
  6. ช้างบ้านทุกเชือกต้องมีหลักฐานประจำตัวช้างที่ออกให้โดยหน่วยงานที่ รับผิดชอบตามพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ พ.ศ. 2482

สำหรับบุคลากรภายในปางช้างมีข้อกำหนดได้แก่

  1. ควาญช้างที่ทำหน้าที่เลี้ยงช้างต้องมีความรู้ได้รับการฝึกอบรมหรือฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับการเลี้ยงช้าง
  2. มีสัตวแพทย์ผู้ควบคุมปางช้างกำกับดูแลด้านสุขภาพช้าง
  3. บุคลากรทุกคนในปางช้างมีสุขลักษณะส่วนบุคคลที่ดีและได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคสัตว์สู่คน

ด้านสุขภาพของช้างในปาง มีข้อกำหนดดังนี้

  1. มีการสังเกตความเป็นอยู่และสุขภาพของช้างทุกวัน
  2. มีการตรวจสุขภาพของช้างประจำปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  3. มีมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันวัณโรค
  4. มีการกักกันโรคสำหรับช้างที่นำเข้าใหม่และแยกช้างป่วยออกจากพื้นที่เลี้ยงช้างปกติ

สำหรับด้านสวัสดิภาพสัตว์

  • ต้องดูแลและปฏิบัติต่อช้างให้ความเป็นอยู่ตามพ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557

การบันทึกข้อมูล

  1. มีการบันทึกข้อมูลที่สำคัญเช่น ประวัติบุคลากร ประวัติการฝึกอบรม หรือฝึกปฏิบัติ และผลการตรวจสุขภาพประจำปี แหล่งที่มาของอาหารและน้ำ
  2. ให้เก็บรักษาบันทึกข้อมูลเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี

การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม

  1. มีมาตรการจัดการมูลช้าง ไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อม
  2. กำจัดซาก ขยะ ของเสีย และน้ำเสีย โดยวิธีที่เหมาะสมตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

การจัดการด้านความปลอดภัย

  1. มีบุคลากร และป้ายหรือเอกสาร ให้คำแนะนำเรื่องความปลอดภัยในการเข้าหาช้าง การให้อาหารช้าง การนั่งบนหลังช้าง และการปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับช้าง รวมทั้งข้อมูลเรื่องพฤติกรรมของช้าง
  2. ควาญช้างมีการตรวจสอบพฤติกรรมของช้างก่อนเริ่มให้บริการแก่ผู้มาใช้บริการทุกครั้ง
  3. มีการจัดการด้านความปลอดภัยเช่น การตรวจสอบอุปกรณ์ที่นั่งบนหลังช้างทุกครั้งที่ออกปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัยของผู้มาใช้บริการ หรือจัดให้มีอุปกรณ์ควบคุมบังคับช้างที่เหมาะสม

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการปางช้างที่เข้าข่ายตามมาตรฐานบังคับ สามารถยื่นขอใบอนุญาตผู้ผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับและขอรับรองมาตรฐานปางช้างผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ TAS-License ได้ที่ http://tas.acfs.go.th/nsw/ และยื่นคำขอใบรับรองมาตรฐานปางช้าง ได้ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่ที่ปางช้างตั้งอยู่ ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ โทร 02-653-4444 ต่อ 3155. -512 – สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ข่าวแนะนำ

น้ำท่วม…น้ำตาชาวปัตตานี

น้ำท่วมรอบนี้ทำให้ชาวปัตตานีจำนวนมากต้องเสียน้ำตา เพราะสร้างความเสียหายให้กับผู้คนหลายแสนคน เป็นมหาอุทกภัย ที่ชาวปัตตานียากจะลืมเลือน

วิสามัญมือยิงประธานสภา อบต.โพนจาน ยิงสู้ จนท.

วิสามัญมือยิงประธานสภา อบต.โพนจาน จ.นครพนม หลังหนีข้ามมา จ.ขอนแก่น เจ้าหน้าที่ปิดล้อมเกลี้ยกล่อมให้วางอาวุธ แต่ไม่สำเร็จ คนร้ายยิงต่อสู้

รมว.กต.กำชับเมียนมาเร่งปล่อย 4 คนไทย-เรือไทย

รมว.ต่างประเทศ เผยภายหลังอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก เชิญทูตเมียนมาเข้าพบ ขอเร่งปล่อย 4 คนไทย-เรือไทยที่อยู่ในการควบคุมโดยเร็ว กำชับทางการเมียนมาติดตามเรื่องนี้ด้วย

อธิบดีกรมราชทัณฑ์เผย “บุญทรง” เข้าเกณฑ์พักโทษ

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เผย “บุญทรง” เข้าเกณฑ์พักโทษ ติดกำไลอีเอ็ม เงื่อนไขทั่วไป ห้ามไปต่างประเทศ ห้ามเคลื่อนไหวการเมือง