ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน 7 ก.ค.- “อ.อ๊อด” เผยผลตรวจสอบสาเหตุทางเลื่อนดูดขาผู้โดยสาร คืบ 80% เชื่อเป็นอุบัติเหตุ หลังพบทางเลื่อนรุ่นเก่า นอตยึดแผ่นเพลทเก่ายึดไม่ไหว
จากกรณีทางเลื่อนสนามบินดอนเมือง ภายในอาคารผู้โดยสารภายในประเทศขาเข้า เกิดการยุบตัวลงในขณะที่มีผู้โดยสารใช้งาน ส่งผลให้ดูดขาผู้โดยสารจนขาขาด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าว
รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ในฐานะกรรมการนักวิชาการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริง เปิดเผยว่า จากการร่วมประชุมวานนี้ (6 ก.ค.) ที่สนามบินดอนเมือง มีความคืบหน้า 80% เกิดจากแผ่นเพลทหลุดออกจากรางสี่เหลี่ยม โดยนอตตำแหน่งที่ A B C ไม่สามารถยึดแผ่นเพลท ในขณะม้วนลงที่ตำแหน่งสิ้นสุดทางเลื่อนไว้ได้ เหลือเพียงตำแหน่ง D ที่ยึดไว้แล้วห้อยแผ่นเพลทโตงเตงอยู่ด้านล่างเลื่อนไป 10 วินาทีจนเซฟตี้สวิตช์ทำงาน ทางเลื่อนจึงหยุด
ในขณะ 10 วินาทีที่ทางเลื่อนพยายามดันไปข้างหน้าขาของผู้โดยสารที่หย่อนลงไปที่ตำแหน่ง E ก็ถูกดันไปเรื่อย ๆ กระแทกกับขอบโลหะที่มีความหนาเกือบ 1 เซนติเมตร จนได้รับบาดเจ็บสาหัส ขาขาด ซึ่งหวีสีเหลืองยังไม่มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ แม้ไม่มีหวี ก็ไม่มีโอกาสที่ขาจะหลุดลงไปขนาดนั้น
ส่วนภาพวงจรปิดบริเวณที่เกิดเหตุ พบว่ามีกล้องวงจรปิด 4 ตัว คณะกรรมการที่ตรวจสอบได้มีโอกาสเห็นภาพจากกล้องทั้งหมดแล้วพบว่าจุดใกล้ที่เกิดเหตุที่สุดมีหนึ่งตัว แต่วินาทีนั้น เป็นจังหวะที่กล้องหมุนหันออกไปอีกทิศทางหนึ่งพอดี ส่วนกล้องอีกตัวที่จะสามารถมองเห็นภาพรวมได้อยู่ไกลออกไป มีผู้โดยสารเดินมาบังบริเวณนั้นพอดีในช่วงจังหวะที่เกิดเหตุดังกล่าว ทำให้ภาพที่ได้จากกล้องวงจรปิดยังไม่สามารถเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน หลังจากนี้อาจจะมีการใช้ระบบ AI เข้ามาช่วยในการจับภาพจากวงจรปิดเพิ่มเติม แต่ที่ยืนยันได้ว่าเมื่อเกิดเหตุขึ้น พนักงานเจ้าหน้าที่และพนักงานจากสายการบินที่อยู่ในบริเวณใกล้เข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้ในระยะเวลาอันรวดเร็วมาก
ที่ประชุมวานนี้ เบื้องต้นผู้บริหารระดับสูงทุกฝ่ายยอมรับว่าเป็นอุบัติเหตุ และขอรับผิดชอบทุกประการ โดยตนเสนอให้มีการจำลองเหตุการณ์อีกครั้งและจะมีการประชุมอีก เพื่อถอดบทเรียนหาข้อสรุปสาเหตุที่แน่ชัด เพื่อไม่ให้เหตุลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก และทางบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จะเป็นผู้แถลงข่าว
นอกจากนี้ ยังพบว่าทางเลื่อนติดตั้งมาตั้งแต่ปี 2530 และมีเซฟตี้สวิตทั้งหมด 5 จุด ปัญหาหลัก คือ อายุการใช้งาน ที่เก่า เมื่อเปรียบเทียบกับทางเลื่อนรุ่นใหม่ อย่างที่สนามบินสุวรรณภูมิจะเป็นตัวที่ปลอดภัยมาก เพียงแค่สายรองเท้าเกี่ยวเครื่องก็หยุดทันที พร้อมแนะนำว่าหากสถานที่ใดยังใช้ทางเลื่อนรุ่นเก่าแบบนี้ควรเพิ่มปุ่มกดฉุกเฉินรองรับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น เพราะตามหลักหากกดปุ่มหยุดฉุกเฉินบันไดเลื่อนจะหยุดทันที.-สำนักข่าวไทย