กรุงเทพฯ 6 มิ.ย.-ธนาคารกสิกรไทยจับมือองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการร่วมศึกษาและพัฒนาธุรกิจการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต และการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปได้เข้ามามีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืน
นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในไทยจำกัดอยู่ในองค์กรขนาดใหญ่ แต่จากการตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมทำให้ตลาดคาร์บอนเครดิตเริ่มคึกคักขึ้น โดยปริมาณและมูลค่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเฉพาะ 2 เดือนแรกของปี 2566 เติบโตมากกว่า 5 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งจะเป็นโอกาสและสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ที่สนใจตลาดคาร์บอนเครดิตควบคู่ไปกับการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืนทั้งนี้ธนาคารได้รับความร่วมมือจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. มาร่วมกันศึกษาพัฒนาให้คนไทยเข้าถึงการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตเพื่อสร้างสังคมสีเขียวไปด้วยกัน
นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. กล่าวว่าาเหตุที่การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในไทยยังคงอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากความต้องการของผู้ซื้อและผู้ขายยังไม่สมดุลกัน อีกทั้งยังขาดสิทธิประโยชน์ที่เป็นแรงจูงใจ และมีข้อจำกัดทางกฎหมายกฎระเบียบที่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ดังนั้น การได้ร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยจึงเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนที่จะช่วยกันผลักดันให้เกิดสังคมคาร์บอนต่ำได้จริง เพื่อสนับสนุนให้ประเทศเดินหน้าสู่การเป็น Net Zero
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ธนาคารกสิกรไทยร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการศึกษาและพัฒนาธุรกิจการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต และการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืน โดยจะร่วมกันศึกษาและพัฒนานวัตกรรม ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต และนำไปพัฒนาให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ที่ต้องการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต รวมทั้งศึกษาการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ เช่น ระบบบล็อกเชนเข้ามาใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพในการขึ้นทะเบียน การซื้อขาย และการโอนถ่ายคาร์บอนเครดิต ให้มีความเหมาะสมแก่ผู้ใช้งานทุกกลุ่ม ได้แก่ องค์กรขนาดใหญ่ ธุรกิจเอสเอ็มอี และประชาชนทั่วไปให้สามารถเข้าถึงง่ายและใช้งานได้จริง ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้การซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตในไทยแพร่หลายมากขึ้น กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืน ผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่ Net Zero ได้ตามเป้าหมาย.-สำนักข่าวไทย