กรุงเทพฯ 28 ต.ค. – เอ็นวิคโค บริษัทในกลุ่ม บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ GC Group ได้รับการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนเครดิต) เป็นครั้งแรกเทียบเท่า 18,254 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ผ่านโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Standard Thailand Voluntary Emission Reduction Program: Standard T-VER) จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO
นายณัฐนันท์ ศิริรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นวิคโค จำกัด เปิดเผยว่ า บริษัท ได้รับการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก ภายใต้ชื่อ “โครงการคัดแยกและนำกลับคืนพลาสติกจากขยะ เพื่อผลิตเป็นเม็ดพลาสติก (Plastic waste sorting and recovery from solid waste to plastic resin by ENVICCO Co., Ltd.)” ซึ่งเป็นโครงการแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิตจากกิจกรรมโครงการประเภทการจัดการขยะมูลฝอยที่ใช้ระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ สำหรับการคัดแยกและนำกลับคืนพลาสติกจากขยะ
“การได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิตจากTGO เป็นอีกก้าวสำคัญของเอ็นวิคโค ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านการรีไซเคิลพลาสติกใช้แล้วในประเทศไทย โดยคาร์บอนเครดิต สามารถนำไปใช้ในกิจกรรมชดเชยการปล่อยคาร์บอน อาทิ องค์กร ผลิตภัณฑ์ การจัดประชุมงานอิเวนต์ หรือบุคคล เพื่อสนับสนุนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง (Carbon Offset) หรือ นำมาชดเชยกับปริมาณทั้งหมดที่ปล่อยออกจากกิจกรรม เพื่อทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับศูนย์ (Carbon Neutrality) และยังเป็นกำลังสำคัญของธุรกิจรีไซเคิลพลาสติกให้กับ GC Group พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Sustainable Products) มุ่งเน้นสร้างระบบหมุนเวียนของผลิตภัณฑ์อย่างครบวงจร (Circularity )” นายณัฐนันท์ ระบุ
เอ็นวิคโค เริ่มดำเนินการจัดทำข้อมูลปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโครงการคัดแยกและนำกลับคืนพลาสติกจากขยะ เพื่อผลิตเป็นเม็ดพลาสติก ในพื้นที่โรงงานที่ตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมเอเซีย จังหวัดระยอง โดย ใช้ขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นจากการบริโภคภายในประเทศไทยเป็นวัตถุดิบ ผ่านกระบวนการคัดแยก ทำความสะอาด และการผลิตด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่มีมาตรฐานระดับสากล จนได้ผลิตภัณฑ์เป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง สามารถใช้งานได้หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำกลับไปใช้ทดแทนพลาสติกตั้งต้นในกลุ่มสินค้าเดิม และยังได้รับการขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint Product: CFP) โดยมีค่า CFP ต่ำกว่า CFP ของเม็ดพลาสติกดั้งเดิมถึง 60% โดยบริษัทมีกำลังผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่สูงถึง 45,000 ตันต่อปี สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนในการใช้พลาสติกใช้แล้วกว่า 430,000 ตันในระยะเวลาดำเนินโครงการฯ 7 ปี (พ.ศ. 2566-2572) คาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 574,700 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า. -511-สำนักข่าวไทย