กรุงเทพฯ 17 ส.ค.-มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมกับ 14 องค์กร ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เครือข่ายป่าชุมชน ร่วมแสดงเจตนารมณ์เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ดำเนินโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ได้ดำเนินการร่วมรักษาพื้นที่ป่ากับกรมป่าไม้มาอย่างต่อเนื่องร่วมมือร่วมใจ ร่วมกับชุมชน รักษาทรัพยากรธรรมชาติ การเพิ่มพื้นที่ป่า ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ ล้วนส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ สร้างรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน
สำหรับความร่วมมือระหว่าง กรมป่าไม้ และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ดำเนินมาแล้วรวม 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ปี 2531 เพื่อดูแลและฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้กว่า 100,000 ไร่ ณ โครงการพัฒนาดอยตุง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ระยะที่ 2 ปี 2553 ต่อยอดในพื้นที่จังหวัดน่าน ดูแลฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้กว่า 250,000 ไร่ เพื่อเป็นต้นแบบการฟื้นฟูอย่างยั่งยืน และระยะที่ 3 ปี 2565 ภายใต้โครงการ “จัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” แบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 พื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา แม่ฮ่องสอน ประกอบด้วยป่าชุมชน 16 แห่ง เนื้อที่ 19,786 ไร่ จำนวนคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดได้ 78,000 ตัน และระยะที่ 2 พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ กำแพงเพชร อุทัยธานี กระบี่ ประกอบด้วยป่าชุมชน 30 แห่ง เนื้อที่ 23,603 ไร่ จำนวนคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดได้ 97,000 ตัน จากความร่วมมือดังกล่าวได้สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนกว่า 74,331 คน มีการรวมกลุ่มเพื่อการอนุรักษ์ในรูปแบบป่าชุมชน และประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลป่าและตัดสินใจเชิงนโยบาย ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน ส่งผลให้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น ไม่มีการบุกรุกพื้นที่ป่า แก้ปัญหาป่าเสื่อมโทรม และลดปัญหาไฟป่า
นางกลอยตา ณ ถลาง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อความยั่งยืน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บางจากฯ เป็นหนึ่งในพันธมิตรผู้ร่วมสนับสนุนโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จะร่วมพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตจากพืชเกษตรยืนต้นร่วมกับสหกรณ์การเกษตรในเครือข่ายธุรกิจสถานีบริการน้ำมันชุมชนของบางจากฯ กว่า 600 แห่งทั่วประเทศ
นายวิศน สุนทราจารย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านกลยุทธ์องค์กรและความยั่งยืน บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) กล่าวว่า โออาร์ ร่วมมือเช่นการพัฒนาศักยภาพป่าให้เป็นแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจก ผ่านการสร้างแรงจูงใจให้ชุมชนดูแลรักษาป่าร่วมกับการเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน โดยในปี 2566 OR ได้เข้าร่วมโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนจากพื้นที่ป่าชุมชน รวม 8,100 ไร่ ภายใต้การดำเนินโครงการหลัก พื้นที่ป่าชุมชนจำนวน 100,000 ไร่ เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก และลดภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ การเข้าร่วมในโครงการดังกล่าว ถือเป็นการดำเนินงานที่ส่งเสริมให้บรรลุตามเป้าหมายการปลูกป่าร่วมกับกลุ่ม ปตท. จำนวน 2 ล้านไร่อีกด้วย.-สำนักข่าวไทย