กรุงเทพฯ 30 พ.ค.- “พิชัย” ชูมาตรการภาษี หัดลดหย่อนติดโซลาร์รูฟท็อป-ขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต เล็งตั้งตลาดคาร์บอนในไทย หนุนรัฐวิสาหกิจออก Green Bond เปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจยั่งยืน มุ่งสู่ ESG
นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวปฐกถาพิเศษ ในงานสัมมนา Bangkok Post ESG Conference 2024 “Greening the Future : ESG Leadership in the Sustainability Revolution” ระบุการพัฒนาด้าน ESG เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมในมิติของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะทวีความสำคัญขึ้นอย่างยิ่งในเวทีโลก ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติที่เกิดจากอุณหภูมิที่ปรับตัวสูงขึ้นและเป็นลำดับที่ 9 ของโลก
กระทรวงการคลังจึงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ สำหรับปี 2567 คาดว่า GDP จะขยายตัวที่ระดับร้อยละ 2.5 ต่อปี จากภาคส่งออกและการผลิตอุตสาหกรรม ที่ชะลอตัว รวมทั้งภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและปรากฏการณ์เอลนิโญ โดยอัตราการขยายตัวของ GDP ของประเทศไทย ในช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลงกว่าอัตราการเติบโตของ GDP ของประเทศไทยในอดีต สะท้อนถึงความจำเป็นในการปรับตัวและยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจของภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ขณะที่ในเวทีการค้าโลกได้เริ่มนำมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีด้านสิ่งแวดล้อมมาบังคับใช้
การเข้าถึงแหล่งทุนและสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริม Low-carbon Economy จึงเป็นสิ่งสำคัญในการสนับสนุนให้ภาคเอกชนปรับตัวและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ พลิกโฉมประเทศไทยจากฐานการผลิตเป็นฐานการคิดและพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่คิดค้นโดยคนไทย โดยเฉพาะเทคโนโลยีการควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือที่เรียกว่า Climate Tech จะช่วยสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับโลก
กระทรวงการคลังร่วมกับหลายหน่วยงานจัดทำแนวทางการพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) เพื่อสร้าง Ecosystem ที่เอื้อต่อการจัดสรรทรัพยากรของประเทศบนพื้นฐานของความยั่งยืน เช่น การทำ Taxonomy การเปิดเผยข้อมูล ESG การสร้างมาตรการจูงใจเพื่อกระตุ้นให้เกิดตลาดและการลงทุนในผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืน เป็นต้น สำหรับแบงก์รัฐ มีสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ
นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง เห็นว่าควร 1) เร่งส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิตและการจัดตั้งตลาดคาร์บอนในประเทศไทย ด้วยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขึ้นทะเบียน การซื้อขาย และการตรวจสอบคาร์บอนเครดิตที่เป็นมาตรฐานสากล และ 2) การพัฒนาตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืนด้วยการสนับสนุน ให้รัฐวิสาหกิจออก Green Bond และ Sustainability-linked Bond เพื่อสร้างตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืน
ด้านมาตรการทางภาษีสำหรับการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจยั่งยืน (Green Transition) ปัจจุบัน กระทรวงการคลังมีมาตรการภาษีที่เกี่ยวข้อง เช่น การส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิต โดยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิที่เกิดจากการขายคาร์บอนเครดิต ภายใต้โครงการ T-VER การส่งเสริมการลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนหรือ Thai ESG ที่ลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ของไทยที่ให้ความสสำคัญเรื่องความยั่งยืนตามหลัก ESG การส่งเสริมพาหนะที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ด้วยการนำปริมาณการปล่อยคาร์บอนมาประกอบการพิจารณากำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เป็นต้น
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแนวทางการให้สิทธิ
ประโยชน์ตามกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เหมาะสมสำ เอาออกออกไปแล้วสำหรับที่ดินของเอกชนที่มีลักษณะเป็นพื้นที่สีเขียว
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการภาษี ทั้งระยะสั้น เช่น สามารถนำค่าใช้จ่ายการซื้อและติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน มาหักค่าลดหย่อนได้ ระยะกลาง ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่ค่าใช้จ่ายในการวัด Carbon Footprint เพื่อให้ผู้ประกอบการวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างตรงจุด การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่ค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต เพื่อกระตุ้นในภาคเอกชนขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคเกษตร และ ระยะยาวจะเน้นการผลักดันภาษีคาร์บอนเพื่อผลักดันให้ทุกภาคส่วนปรับตัวเพื่อให้ประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนตามข้อตกลงปารีส ทั้งนี้ จะพิจารณาผลกระทบรอบด้าน และระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนกลุ่มเปราะบาง และพัฒนากลไกเยียวยาที่เหมาะสม
“การดำเนินนโยบายเหล่านี้ รวมทั้งการประกอบธุรกิจของภาคเอกชนที่ยึดหลัก ESG จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวเป็นผู้นำระดับโลกด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ดึงดูดการลงทุน ส่งเสริมนวัตกรรม และมีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม ซึ่งจะยกระดับรายได้ คุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของคนไทยทุกคน” นายพิชัย กล่าว.-516-สำนักข่าวไทย