วิธีหลอก : แอบอ้างชื่อที่พักดัง ในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่ง
อุบาย : มีด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ
1. ใช้เพจปลอม มิจฉาชีพจะแอบอ้างเป็นแอดมิน มีการคัดลอกเนื้อหาจากเพจจริง โดยอาศัยการยิงโฆษณาเพื่อสร้างความเข้าใจผิด
2. ใช้บัญชีเฟซบุ๊กอวตารแฝงตัวเข้าไปในกลุ่มแนะนำโรงแรม หรือที่พักต่าง ๆ เพื่อโพสต์ข้อความในลักษณะ “มีที่พักราคาดีหลุดจองอยู่”
เมื่อเหยื่อสนใจตลอดจนติดต่อเข้าไปก็จะถูกลวงให้โอนเงินสำรองที่พัก ไปยังบัญชีบุคคลธรรมดา แน่นอนว่าการสำรองดังกล่าวไม่เป็นความจริง หากเหยื่อเดินทางไปเข้าพักยังสถานที่จริงย่อมไม่สามารถเข้าพักได้
ช่องทาง : แอปพลิเคชัน Facebook
ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย มิจฉาชีพใช้เพจปลอม-บัญชีอวตารแนะนำที่พัก ก่อนแอบอ้างเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ลวงให้โอนเงินสำรองที่พัก ด้าน ‘โฆษก’ ขอให้ประชาชนระมัดระวังมากขึ้น พร้อมแนบวิธีการป้องกัน
กรุงเทพฯ 4 พ.ค. 66 – พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือ ตำรวจไซเบอร์ ออกประชาสัมพันธ์เตือนภัย กรณีมิจฉาชีพปลอมช่องทางการติดต่อของที่พักดัง แอบอ้างเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ลวงเหยื่อให้โอนเงินสำรองค่าที่พักก่อนชิ่งหนีไป
ฉวยโอกาสฤดูกาลท่องเที่ยว ปลอมช่องทางการติดต่อ แอบอ้างชื่อที่พักดัง
มิจฉาชีพอ้างตนเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับที่พัก ซึ่งมีรูปแบบของอุบายที่แตกต่างกัน ดังนี้
1. กรณีเป็นเพจปลอม มิจฉาชีพจะแอบอ้างเป็นแอดมิน ทั้งนี้อาจสร้างเพจขึ้นมาใหม่ หรือเปลี่ยนชื่อเพจที่มีผู้ติดตามอยู่แล้ว ให้เหมือนกันกับเพจที่พักของจริง แน่นอนว่าต้องคัดลอกภาพ Profile, ภาพหน้าปก, เนื้อหา และส่วนลดต่าง ๆ มาใช้เช่นเดียวกันด้วย สำหรับการเลียนแบบข้างต้นคาดว่า อาจยังไม่เพียงพอที่จะล่อลวงให้ประชาชนเข้าถึงหน้าเพจตลอดจนหลงเชื่อได้ มิจฉาชีพจึงอาศัยเทคนิคการยิงโฆษณาเพิ่มเติม เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ซึ่งอันตรายเป็นอย่างยิ่งสำหรับประชาชน ผู้ไม่เคยเข้าถึง หรือรู้จักเพจที่พักของจริงมาก่อน กรณีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เพจเฟซบุ๊กที่ดูมีความน่าเชื่อถือ มีการลงทุน เพื่อยิงโฆษณาอาจไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่คิด
2. กรณีเป็นบัญชีอวตาร มิจฉาชีพมักแอบอ้างเป็นเจ้าของที่พัก และแฝงตัวเข้าไปในกลุ่มแนะนำที่พักต่าง ๆ เพื่อโพสต์ข้อความในลักษณะ “มีที่พักราคาดีหลุดจองอยู่” แม้จะไม่ได้ดูมีความน่าเชื่อถือเท่ากับกรณีก่อนหน้านี้ แต่ในความเป็นจริง การแนะนำที่พักในลักษณะดังกล่าวสามารถนำผู้ที่มีความสนใจไปสู่การสำรองที่พัก ตลอดจนเข้าพักจริงได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจเป็นช่องโหว่สำคัญให้มิจฉาชีพหยิบยืมการหารายได้ของผู้ประกอบการ มาสร้างความเสียหายในสังคมได้
หลงเชื่อ + โอนเงิน = ตกเป็นเหยื่อ
เมื่อประชาชนเกิดความสนใจตลอดจนติดต่อเข้าไป ก็จะถูกลวงให้โอนเงินค่ามัดจำที่พัก หรือเงินสำรองที่พักก่อน หากในขั้นตอนนี้ประชาชนหลงเชื่อ ยอมโอนเงินจริงจะเท่ากับตกเป็นเหยื่อทันที เพราะการสำรองดังกล่าวไม่เป็นความจริง ประกอบกับหลังจากโอนเงินตามขั้นตอนไปแล้ว เพจปลอม หรือบัญชีอวตารนั้น ๆ จะไม่สามารถติดต่อได้อีกเลย เป็นเหตุให้เหยื่อไม่สามารถเข้าพัก ณ สถานที่จริงตามที่สำรองไว้ได้
โฆษก บช.สอท. ขอให้ประชาชนระมัดระวังเพิ่มขึ้น พร้อมแนบวิธีการป้องกัน
ด้านโฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีดังกล่าวว่า การสำรองที่พัก หรือบริการต่าง ๆ ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ประชาชนควรตรวจสอบให้ดี เนื่องจากอาจเป็นช่องทางที่มิจฉาชีพปลอมขึ้นมา เพื่อหลอกเอาทรัพย์สินไป ขอให้ประชาชนระมัดระวัง รู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพเหล่านี้ อย่าหลงเชื่อเพียงเพราะมีชื่อเหมือนกันกับที่พักของจริง หรือเคยพบเจอบนเว็บไซต์ค้นหาทั่วไป ซึ่งหมายรวมถึงตามกลุ่มท่องเที่ยว และการส่งต่อกันมาตามสื่อสังคมออนไลน์ด้วย โดยวิธีการป้องกันการถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว มีดังนี้
1. สำรองที่พักผ่านช่องทางที่เป็นทางการ หรือผ่านผู้ให้บริการสำรองที่พักออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ เช่น Booking.com, Agoda, Traveloka หรือผ่านเว็บไซต์ของที่พักโดยตรง
2. หากต้องการที่จะเข้าสู่เพจเฟซบุ๊กใดควรพิมพ์ชื่อด้วยตนเอง และตรวจสอบให้ดีว่ามีชื่อซ้ำ หรือคล้ายกันหรือไม่ ตลอดจนตรวจสอบว่า เพจใดคือเพจจริง
3. เพจเฟซบุ๊กของจริงจะต้องมีเครื่องหมายยืนยันตัวตน หากไม่มีเครื่องหมายดังกล่าวให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นเพจปลอม ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง
4. โทรศัพท์ไปสอบถามที่พักก่อนโอนเงินว่า เพจที่พักถูกต้องหรือไม่ และเลขบัญชีถูกต้องหรือไม่
5. เพจเฟซบุ๊กของจริงจะมีส่วนร่วมในการโพสต์เนื้อหา รูปภาพ หรือกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการรีวิวที่พักจากผู้เข้าพักจริงด้วย
6. เพจปลอมจะมีผู้ติดตามน้อยกว่าเพจของจริง และมักจะเพิ่งสร้างขึ้นได้ไม่นาน
7. ระมัดระวังการประกาศโฆษณาที่พักราคาถูก หรือที่พักที่อ้างว่าหลุดจอง
8. ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจว่า มีการเปลี่ยนชื่อเพจมาก่อนหรือไม่ และผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศใด
9. หลีกเลี่ยงการโอนเงินไปยังบัญชีบุคคลธรรมดา โดยบัญชีที่รับโอนควรเป็นบัญชีชื่อที่พัก หรือบัญชีชื่อบริษัท นอกจากนี้ยังควรตรวจสอบหมายเลขบัญชีทุกครั้งว่า มีประวัติการหลอกลวงหรือไม่ ผ่านเว็บไซต์ Google, blacklistseller.com หรือ chaladohn.com เป็นต้น
ทีมข่าวไซเบอร์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
ผู้สื่อข่าว : สุวัชรียา จันทร์บัว
พิสูจน์อักษร : จิรัชยา นวลนิ่มน้อย
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter