หนานหนิง, 16 เม.ย. (ซินหัว) — เหลียงจงอู่วัย 48 ปี ชาวบ้านในตำบลถานลั่ว เขตซีเซียงถัง นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ทางตอนใต้ของจีน เป็นหนึ่งในผู้ปลูกฟักทองพันธุ์ศรีเมือง 16 ของไทย ยุ่งเป็นพิเศษในช่วงนี้เนื่องจากฟักทองเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวแล้ว
เหลียงกล่าวว่าฟักทองพันธุ์นี้จากประเทศไทย มีรสชาติหอมหวานกว่า แถมยังโตเร็วและให้ผลผลิตมากกว่าฟักทองทั่วไป ทำให้ต้นทุนในการปลูกน้อยลงแต่ขายได้ราคาสูงขึ้น สร้างรายได้ 5,000-6,000 หยวนต่อหมู่” (ราว 25,000-30,000 บาทต่อพื้นที่ 666 ตารางเมตร) และเป็นแหล่งรายได้หลักของครอบครัว
ฟักทองข้างต้นเป็นหนึ่งในพืชผักที่มีการเพาะปลูกในโครงการนำร่องศูนย์ชนบทระดับชาติ (Rural Complex) “เหม่ยลี่หนานฟาง” ในเขตซีเซียงถัง เมืองหนานหนิง โดยศูนย์ดังกล่าวเป็นโครงการของรัฐบาลจีนที่มุ่งให้ชาวบ้านในท้องถิ่นมีอาชีพและสร้างชุมชนเพื่อดึงดูดผู้อยู่อาศัยใหม่ รวมถึงดึงดูดนักท่องเที่ยวจากย่านเมือง ภายในศูนย์ฯ แห่งนี้ ปลูกพืชผักผลไม้ไทยหลายขนิด อาทิ มะระ ข้าวโพดหวาน แตงโม และแตงกวา โดยฟักทองสายพันธุ์ไทยนั้นบริษัทฯ ได้เมล็ดพันธุ์ที่นำเข้ามาในจีนโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี กรุ๊ป)
อีกฟากหนึ่งในจังหวัดนครปฐมของไทย สวนสาธิตเกษตรขนาด 150 หมู่ (ราว 63 ไร่) ของบริษัทฯ ก็มีการปลูกพริกแดงจากจีน นำเมล็ดพันธุ์ผักและผลไม้ของจีนมาปลูกที่ฐานเพาะปลูกในไทย โดยหลังจากเพาะพันธุ์สำเร็จแล้วก็จะนำไปแนะนำให้เกษตรกรไทย “ข้าวโพดหวานของไทยหวานกว่า ขณะที่ข้าวโพดข้าวเหนียวของจีนมีรสสัมผัสดีกว่า พืชสองสายพันธุ์นี้ช่วยจีนกับไทยส่งเสริมกันและกันได้เป็นอย่างดี”
หลายปีที่ผ่านมา จีน-ไทยมีความร่วมมือทางการค้าแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยและเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุดของไทย ข้อมูลระบุว่าในปี 2022 ปริมาณการค้าระหว่างจีน-ไทยสูงถึง 1.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.6 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปจีนสูงแตะ 1.26 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.3 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบปีต่อปี
ในปี 2022 จีนกลายเป็นแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศรายใหญ่สุดของไทย มูลค่าการลงทุนของจีนในไทยสูงถึง 7.73 หมื่นล้านบาท โดยความร่วมมือในภาคเกษตรระหว่างสองประเทศมีความคืบหน้ามากยิ้งขึ้น
อรรถยุทธ์ ศรีสมุทร เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง กล่าวว่าไทยและจีนได้ขยายความร่วมมือในด้านต่างๆ ภายใต้กรอบความคิดริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง การบริโภคของชาวจีนที่เติบโตขึ้นทำให้รายได้ของผู้ส่งออกไทยเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะผลไม้และสินค้าเกษตรของไทยซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบของชาวจีนอย่างต่อเนื่อง และทั้งสองฝ่ายต่างมุ่งมั่นที่จะสร้างประชาคมไทย-จีนที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น-สำนักข่าวซินหัว
คลิกเพื่ออ่านข่าวภาษาอังกฤษ https://english.news.cn/20230420/08e2d58bcf4a4eb2ae8551bc9526e4e0/c.html
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง https://www.xinhuathai.com/china/351804_20230416
ขอบคุณภาพจาก Xinhua