กรุงเทพฯ 27 มี.ค. –นักวิเคราะห์ประสานเสียง คาด กนง. 29 มี.ค.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1.75% และอาจเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในรอบวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้ ท่ามกลางแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ลดลง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหน่วยงานวิเคราะห์ทั้ง บล.บัวหลวง,ธ.กสิกรไทย,ธ.กรุงไทย คาดการณ์ ที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือกนง. 29 มี.ค.จะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1.75%
นายวิกิจ ถิรวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการสายงานวิจัยลูกค้าบุคคล บล.บัวหลวง คาดว่า การขึ้นดอกเบี้ย ของ กนง.รอบนี้เป็นการขึ้นของปลายทางขาขึ้น ไม่น่าจะกระทบต่อดัชนีหุ้น เป็นการปรับขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ และทิศทางเงินเฟ้อที่ชะลอลง ส่วนหุ้นไทยหลังปรับฐาน ไปแล้วหุ้นไทยต่อจากนี้ น่าจะฟื้นตัว และยังมีความคาดหวัง จากแรงทำราคาเพื่อปิดงบบัญชี (Window Dressing) ในไตรมาส 1/2566 ก็ควรจะหาหุ้นที่ได้ประโยชน์จากส่วนนี้ ส่วนกรณีต่างชาติจะไหลกลับ (ฟันด์โฟลว์)เข้ามาตลาดหุ้นไทย เมื่อใดนั้น เรื่องนี้ ต้องใช้ ระยะเวลา เพราะเมื่อมีปัญหาฐานะธนาคารในฝั่งสหรัฐ/ยุโรป ก็จะมีปัญหาสภาพคล่อง
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า กนง. 29 มี.ค.นี้ คาดว่า กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1.75% โดยมองว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้อาจเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในรอบวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นนี้ ท่ามกลางแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับแรงกดดันจากแนวโน้มนโยบายการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกเริ่มลดลง เนื่องจากธนาคารกลางหลักอย่างธนาคารกลางสหรับ (เฟด) เริ่มส่งสัญญาณเตรียมหยุดขึ้นดอกเบี้ยในระยะอันใกล้
ทั้งนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อของไทยเดือน ก.พ.66 ที่ออกมาล่าสุด สะท้อนแรงกดดันด้านเงินเฟ้อชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้เงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1-3% ส่งผลให้ กนง. อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งสุดท้ายในรอบวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นนี้ที่ 0.25% นอกจากนี้ แนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเฟด เริ่มเข้าใกล้จุดสูงสุดแล้ว ส่งผลให้แรงกดดันจากแนวโน้มนโยบายการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกเริ่มลดลง
“เงินเฟ้อทั่วไปของไทยในเดือน ก.พ. ลดลงมาแตะระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือนที่ 3.8%YoY ประเมินว่า ทิศทางเงินเฟ้อที่ชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญนี้ จะส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปีนี้ กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายของ กนง. โดยอยู่ที่ราว 2.8% (กรอบเป้าหมายที่ 1-3%) ขณะที่เศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางผลกระทบของการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้วของธนาคารกลางหลัก อย่างเฟด และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกอบกับปัญหาธนาคารชาติตะวันตกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้น กนง. คงจะต้องให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะหยุดปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะอันใกล้”ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย คาด กนง.) จะมีมติเป็นเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.75% พร้อมกันนั้น กนง. อาจปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวของการบริโภคในประเทศและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติดีขึ้นจากการประชุมเดือนธันวาคม ส่วนคาดการณ์ยอดการส่งออกอาจถูกปรับลงตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะสอดคล้องกับรายงานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศในช่วงนี้ ที่ตลาดประเมินว่ายอดการส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ จะยังคงหดตัว 7% เมื่อเทียบกับปีก่อน สอดคล้องกับภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ยอดการนำเข้าจะขยายตัว 2% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความต้องการบริโภคในประเทศที่ขยายตัวได้ดี ทำให้ดุลการค้าอาจขาดดุลเกือบ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐได้ .-สำนักข่าวไทย