กรุงเทพฯ 13 ก.พ. – อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรเผย พื้นที่เพาะปลูกกุหลาบทั่วประเทศลดลงกว่าครึ่ง จากข้อจำกัดทั้งด้านการผลิตและการตลาด เตรียมคัดเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพเพื่อส่งเสริมเกษตรกรให้พัฒนาการผลิตจนได้ดอกที่มีคุณภาพทัดเทียมกุหลาบต่างประเทศ
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวว่า มีแผนจะเพิ่มพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาการผลิตกุหลาบตัดดอกเพื่อให้เกษตรกรปรับปรุงคุณภาพผลผลิตให้เทียบเท่าผลผลิตจากต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรประสบปัญหาทั้งด้านการผลิตและการตลาด ส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนหันไปปลูกพืชอื่น ขณะเดียวกันมีการนำเข้าดอกกุหลาบจากต่างประเทศในปริมาณและมูลค่าที่สูง โดยในปี 2564 นำเข้า 1,260 ตัน คิดเป็นมูลค่า 114 ล้านบาท โดย 95% นำเข้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีน
สำหรับแหล่งปลูกกุหลาบที่สำคัญคือ จังหวัดเชียงใหม่ ตาก เลย และเชียงราย จำนวนเกษตรกรผู้ปลูกกุหลาบ ปี 2564 มี 281 ราย ลดลงจากปี 2563 ซึ่งมี 397 ราย แต่พื้นที่ปลูกลดลงกว่าครึ่ง โดยปี 2563 มีพื้นที่ปลูก 2,261 ไร่ แต่ปี 2564 มี 810 ไร่
การปลูกกุหลาบตัดดอกมีข้อดีคือ ปลูกได้ตลอดปี มีตลาดรองรับ คุณภาพยิ่งดี รายได้ยิ่งสูง เกษตรกรรายใหญ่มีความรู้และประสบการณ์ในการปลูกเลี้ยง แต่ข้อจำกัดด้านการผลิตที่พบได้แก่ สภาพอากาศแปรปรวน ทำให้วางแผนการผลิตไม่ตรงตามความต้องการของตลาด ทั้งยังส่งผลต่อคุณภาพของดอกไม่สม่ำเสมอเท่าที่ควร รวมถึงปัญหาเรื่องโรคและแมลงด้วย ขาดแหล่งพันธุ์ที่ดี ไม่มีพันธุ์ใหม่ๆ เข้าสู่ตลาด บางพื้นที่ขาดแหล่งน้ำ โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ต้นทุนการผลิตที่สูงทั้งปุ๋ย สารเคมีการเกษตร อุปกรณ์การผลิต และค่าจ้างแรงงาน
ส่วนปัญหาด้านการตลาดได้แก่ คุณภาพผลผลิตและการบรรจุหีบห่อยังไม่ได้มาตรฐาน เมื่อเทียบกับดอกไม้ที่ซื้อจากต่างประเทศ ราคาค่อนข้างแปรปรวน เกษตรกรขาดอำนาจต่อรองในตลาด เกิดการตัดราคากันเองระหว่างเกษตรกรในช่วงที่มีผลผลิตออกมาก ปริมาณและผลผลิตยังมีคุณภาพไม่เพียงพอในการส่งออก แม้ตลาดต่างประเทศมีความต้องการ
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวว่า แนวทางการส่งเสริมให้เกษตรกรปรับปรุงคุณภาพผลผลิต จะต้องคัดเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพ พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เกณฑ์การคัดแยกผลผลิตที่เป็นเกณฑ์เดียวกัน ศึกษาทดสอบพันธุ์ใหม่ๆ และนำออกส่งเสริมแก่เกษตรกรเพื่อสร้างความหลากหลายทางด้านผลผลิต พัฒนาแหล่งน้ำและระบบการให้น้ำ ส่งเสริมการป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน กลุ่มเกษตรกรต้องเข้มแข็งทั้งด้านผลผลิตและตลาด รวมถึงสร้างเครือข่ายการผลิตการตลาด โดยส่งเสริมให้เกษตรกรและผู้จำหน่าย ตลอดจนร้านดอกไม้ มีการพบปะแลกเปลี่ยนความรู้กันเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพเทียบเท่าต่างประเทศ
สำหรับปริมาณการส่งออกกุหลาบตัดดอกของไทยในปี 2564 รวม 472 ตัน มูลค่า 13 ล้านบาท ประเทศผู้ส่งออกกุหลาบตัดดอกที่สำคัญของโลก 5 อันดับแรกคือ เนเธอแลนด์ เอกวาดอร์ เคนย่า โคลัมเบีย และเอธิโอเปีย ส่วนประเทศผู้นำเข้าสำคัญ 5 อันดับแรกได้แก่ สหรัฐอเมริกา เนเธอแลนด์ เยอรมนี อังกฤษ และรัสเซีย-สำนักข่าวไทย