กรุงเทพฯ 13 ส.ค. – กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งวิจัยขยายท่อนพันธุ์มันสำปะหลังต้านทานโรคใบด่าง โดยมีแผนผลิตต้นกล้าให้ได้ 240,000 ต้น ใน 3 เดือน จากนั้นนำไปปลูกขยายพันธุ์ที่ศูนย์ขยายพันธุ์พืชทั้ง 8 ศูนย์ เพื่อให้ได้ต้นพันธุ์ที่พร้อมเป็นพันธุ์ตั้งต้นสำหรับใช้เพิ่มปริมาณต้นกล้าในปี 2568 และตั้งเป้าหมายให้ได้ 15 ล้านท่อน ในปี 2569 ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่ปลูก 9 ล้านไร่ เพื่อตัดวงจรการระบาดของโรคที่มีมากว่า 6 ปี ให้ได้
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับหน่วยงานภาคีในการขับเคลื่อนแก้ไขผลกระทบของเกษตรกรจากโรคใบด่างมันสำปะหลัง ด้วยการให้ความรู้แก่เกษตรกรและแนะนำวิธีการป้องกันกำจัดตามมาตรการป้องกัน กำจัด โรคใบด่างมันสำปะหลังมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้สนับสนุนท่อนพันธุ์มันสำปะหลังทนทานต่อโรคใบด่างได้แก่ เกษตรศาสตร์ 50 ห้วยบง 60 และระยอง 72 เพื่อลดความรุนแรงของโรคและผลกระทบต่อปริมาณของผลผลิตอันเป็นเหตุให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนน้อยลงจากเดิม
ล่าสุดกรมส่งเสริมการเกษตรประสานงานและได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (TTDI) สนับสนุนท่อนพันธุ์มันสำปะหลังต้านทานโรคใบด่างได้แก่ พันธุ์อิทธิ 1 อิทธิ 2 และอิทธิ 3 รวม 15,000 ลำ ซึ่งกำลังเร่งเดินหน้าผลิตขยายเป็นต้นกล้ามันสำปะหลังสะอาดพันธุ์ต้านทานโรคใบด่างให้ได้ 240,000 ต้น ภายในระยะเวลา 3 เดือน จากนั้นจะนำต้นกล้าไปปลูกเพื่อขยายพันธุ์ในพื้นที่ของศูนย์ขยายพันธุ์พืชทั้ง 8 ศูนย์ของกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นเวลา 10 เดือน เพื่อให้ได้ต้นพันธุ์ที่พร้อมเป็นพันธุ์ตั้งต้นสำหรับใช้เพิ่มปริมาณต้นกล้าในปี 2568
จากนั้นมีแผนประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคี โดยเฉพาะหน่วยงานภาคการศึกษาที่มีเครื่องมือและพื้นที่ในการผลิตขยายพันธุ์มันสำปะหลังต้านทานโรคที่มีประสิทธิภาพ โดยจะร่วมกันผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังต้านทานโรคใบด่างตามเป้าหมาย 15 ล้านท่อนในปี 2569 เพื่อให้เพียงพอสำหรับสนับสนุนให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดกว่า 9 ล้านไร่ เพื่อเป็นการตัดวงจรการระบาดของโรคที่มีมาตั้งแต่ปี 2561 ให้ได้
พร้อมกันนี้ขอเน้นย้ำให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศใช้ท่อนพันธุ์สะอาด ปลอดโรค และทราบแหล่งที่มาของท่อนพันธุ์ ชัดเจน โดยไม่ควรปลูกพันธุ์อ่อนแอต่อโรคใบด่างมันสำปะหลังได้แก่ ระยอง 11 และ CMR 43-08-89 สำหรับเกษตรกรที่ปลูกพันธุ์อ่อนแอแนะนำให้ปรับเปลี่ยนมาใช้พันธุ์ทนทานต่อโรคใบด่างได้แก่ เกษตรศาสตร์ 50 ห้วยบง 60 และระยอง 72 เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดขของโรคใบด่างมันสำปะหลัง นอกจากนี้ขอให้เตรียมพร้อมเข้าร่วมโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังที่หน่วยงานภาครัฐจะสนับสนุนท่อนพันธุ์มันสำปะหลังต้านทานโรคใบด่าง ตลอดจนสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมและช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะปลูกมันสำปะหลังที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรในรอบระยะเวลาที่ร่วมโครงการต่อไป
โรคใบด่างมันสำปะหลัง (Cassava Mosaic Disease: CMD) พบการระบาดครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อปี 2559 ที่ประเทศเวียดนามและประเทศกัมพูชา เกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV) สำหรับประเทศไทยพบในปี 2561 โดยกรมวิชาการเกษตรรายงานพบโรคใบด่างมันสำปะหลังระบาดที่จังหวัดปราจีนบุรี สุรินทร์ และจังหวัดศรีสะเกษ ต่อมาปี 2562 พบต้นมันสำปะหลังแสดงอาการใบด่างที่จังหวัดสระแก้ว แล้วระบาดต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
พาหะของโรคคือ แมลงหวี่ขาวยาสูบ (Bemisia tabaci) ที่ติดมากับท่อนพันธุ์ ลักษณะอาการ พืชที่เป็นโรคจะแสดงอาการใบด่าง เหลือง ใบลดรูป และเสียรูปทรง ลำต้นแคระแกร็น ไม่มีการเจริญเติบโต หรือมีการเจริญเติบโตน้อย หากระบาดรุนแรงอาจทำให้ผลผลิตลดลงร้อยละ 80 – 100
หากพบต้นมันสำปะหลังเป็นโรคใบด่างต้องถอนทำลาย จากนั้นฝังกลบในหลุมลึกไม่น้อยกว่า 2 – 3 เมตร ราดยสารกำจัดวัชพืช อะมีทรีน 80% WG หลังทำลายต้นมันสำปะหลังที่พบโรคใบด่างมันสำปะหลังในแปลงต้องให้หยุดปลูกมันสำปะหลังอย่างน้อย 2 เดือน หรือปลูกพืชอื่นเช่น ข้าวโพด ถั่วเขียว ก่อนการปลูกมันสำปะหลังครั้งต่อไป ไม่ควรปลูกสบู่ดำ ละหุ่ง และหม่อนซึ่งเป็นพืชอาศัยของเชื้อโรคใบด่างมันส าปะหลัง ตลอดจนต้องใช้ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรค โดยงดใช้ท่อนพันธุ์ที่มาจากแหล่งปลูกที่มีประวัติพบการระบาดของโรค และท่อนพันธุ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ
ทั้งนี้ หากเกษตรกรต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน. -512 – สำนักข่าวไทย