กรุงเทพฯ 19 ม.ค. – ศาลสั่งธนาคารดัง-ลูกสาว ร่วมชดใช้เงิน “อาม่าฮวย” 207 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเงินแล้วเสร็จ ด้านทนายชี้คดีนี้เป็นอุทาหรณ์ให้ธนาคารทุกแห่งอย่าไว้ใจพนักงาน
จากกรณีอาม่าฮวย ศรีวิรัตน์ พร้อมทนายความ ยื่นฟ้องลูกสาวต่อศาลแพ่ง กรณีเปลี่ยนแปลงสิทธิ์การเบิกถอนเงินในบัญชีโดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะที่นอนป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล สูญเงินในบัญชีไปกว่า 350 ล้านบาท
ศาลแพ่งพระโขนงนัดฟังคำพิพากษาในคดีที่อาม่าฮวย เป็นโจทก์ฟ้องธนาคารแห่งหนึ่ง และพนักงานของธนาคาร เป็นจำเลยที่ 1-5 และนางมาวดี บุตรคนที่ 2 ของนางฮวยเอง เป็นจำเลยที่ 6 โดยศาลได้พิพากษาให้ธนาคารชื่อดังแห่งหนึ่ง รองผู้จัดการสาขา, พนักงานธนาคาร และนางมาวดี ชดใช้เงินจำนวน 207 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย
นายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความอาม่าฮวย เปิดเผยว่า สำหรับคดีนี้ ศาลได้พิเคราะห์จากการกระทำของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 6 ได้กระทำการละเมิดสิทธิในการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกถอนเงิน โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเหตุการณ์นี้เริ่มต้นขึ้นหลังจากอาม่าฮวยล้มป่วย ซึ่งตรวจสอบแล้วพบว่า นางมาวดี ร่วมกับพนักงานธนาคารแห่งหนึ่ง จำนวน 2 คน เปลี่ยนแปลง ปลอมแปลง ลายมือชื่ออาม่าฮวย เพื่อมอบอำนาจให้นางมาวดี มีสิทธิ์เบิกถอนเงินฝากกระแสรายวัน และกองทุนบัญชีของบริษัทหลักทรัพย์จัดการเงินกองทุน และพบว่ามีการถอนเงินจากบัญชี และสั่งจ่ายเช็ค รวมถึงถอนเงินจากหน่วยลงทุน เข้าไปที่บัญชีของตัวเอง
ศาลพิพากษาให้ธนาคารชื่อดังแห่งหนึ่ง ชำระเงิน 44,645,676.82 บาท พร้อมดอกเบี้ยจากเงินต้น 33,668,516 บาท ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยนับจากวันฟ้อง (19 พ.ย. 62) จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี โดยนับจากวันฟ้องเช่นกัน พร้อมทั้งให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี โดยนับจากวันที่ 11 เมษายน 2564 จนกว่าจะชำระเสร็จ
ส่วน จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 117,097,573.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยจากเงินต้น 82,176,281.32 บาท ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยนับจากวันฟ้อง (19 พ.ย. 62) จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 อีกทั้งยังให้จำเลยที่4 ร่วมกับจำเลยที่1 และให้จำเลยที่6 ร่วมกับจำเลยที่4 ชำระหนี้ข้างต้นจำนวน 34,881,691.72 บาท พร้อมดอกเบี้ยจากเงินต้น จำนวน 82,176,281.32 บาท ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยนับจากวันฟ้อง (19 พ.ย. 62) จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 พร้อมทั้งให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี โดยนับจากวันที่ 11 เมษายน 2564 จนกว่าจะชำระเสร็จ สำหรับดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป หากมีพระราชกฤษฎีกาปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเมื่อใด ก็ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนไปบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปีตามขอ สำหรับค่าธรรมเนียมศาลที่โจทก์ได้รับยกเว้นนั้น ให้จำเลยที่1 จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 6 ร่วมกันนำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ และให้ร่วมกันใช้ค่าทนายความ รวม 1 แสนบาท แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 3 และ 5 ยกฟ้อง
นายอนันต์ชัย ฝากถึงธนาคารทุกแห่งให้ดูคดีนี้ไว้เป็นตัวอย่าง อย่าไปไว้ใจพนักงานของตนเอง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุลักษณะนี้ซ้ำรอยลักษณะดังกล่าวอีก .-สำนักข่าวไทย