ศูนย์การประชุมสิริกิติ์ 16 พ.ย. -เวทีประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ฉันทามติเป้าหมายกรุงเทพว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ย้ำเวทีเอเปคสร้างความเชื่อมั่นไม่แพ้เวทีจี 20 และผู้นำอาเซียน
นายธานี ทองภักดี เอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน ปฏิบัติหน้าที่ประธานเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค พร้อมด้วยนางรีเบคกา สตา มาเรีย ผู้อำนวยการบริหารสำนักงานเลขาธิการเอเปค แถลงร่วมกันว่า เป็นที่น่ายินดีว่าที่ประชุม 21 เขตเศรษฐกิจมีเสียงฉันทามติขับเคลื่อนเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือ FTAAP หวังให้เป็นเขตเขตการค้าเสรีใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อขจัดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศ และการเชื่อมโยง การค้า การลงทุนของกลุ่มเอเปค หลังจากที่ชะลอไปนาน จึงต้องการฟื้นการหารือขึ้นมาใหม่หลังโดนแช่เย็นมานานกว่า 10 ปี เพื่อใช้ฟื้นเศรษฐกิจของเอเปคหลังโควิด-19
“ยอมรับว่าการเจรจา FTAAP ไม่ใช่การผูกมัดข้อตกลงให้ประเทศสมาชิกต้องลดภาษีหรือสร้างอุปสรรค กีดกันทางการค้าเหมือนกับเขต RCEP หรือ CPTPP แต่จะทยอยเปิดเสรีการค้าตามความพร้อมของแต่ละประเทศ เพื่อนำไปสู่การหารือที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อเสนอต่อเวทีระดับรัฐมนตรีและเวทีผู้นำเอเปค เป้าหมายการหารือเขตการค้าเสรีกลุ่มเอเปค หรือ FTAAP นับเป็นความร่วมมือพหุภาคีที่สำคัญของโลก ซึ่งมูลค่า GDP รวมกัน 61% ของทั้งโลก การค้ามีสัดส่วนร้อยละ 48 ของการค้าโลก ทำให้ไทยได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจหลายมิติ โดยเฉพาะการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวของประชากรเอเปค” นายธานี กล่าว
นายธานี กล่าวว่า สำหรับการประชุมเอเปคครั้งนี้ได้มีการรวมกลุ่มชุมนุมประท้วงของกลุ่มต่าง ๆ เพื่อแสดงความเห็น ยอมรับว่าเป็นเรื่องปกติของการประชุมระดับเวทีนานาชาติ มีหลายฝ่ายแสดงออกทั้งคัดค้านและมีข้อเสนอแนะในรูปแบบต่าง ๆ แต่รัฐบาลสามารถที่จะควบคุมดูแลให้อยู่ในสถานการณ์สงบ อีกทั้งยอมรับว่าการประชุมของกลุ่มจี 20 เอเปค และผู้นำอาเซียน คงไม่สามารถเปรียบเทียบจำนวนผู้นำในการเข้าร่วมประชุมแต่ละเวทีได้ ยอมรับว่าผู้นำทุกประเทศให้ความสำคัญส่งผู้นำเข้าร่วมประชุมในการร่วมขับเคลื่อนทางด้านเศรษฐกิจทุกมิติ ลดอุปสรรคทางการค้า และส่งเสริมอำนวยความสะดวกการค้าการลงทุนให้ง่ายขึ้น
“ที่ประชุมมีฉันทามติร่วมกันในการร่างเอกสารเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG เพื่อเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคและระดับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค สำหรับร่างเอกสารเป้าหมายกรุงเทพฯ 4 เป้าหมายประกอบด้วย 1. การจัดการปัญหาสภาพภูมิอากาศ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ 2. การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน 3. การบริหารจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน และอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ 4. การลดและบริหารจัดการของเสีย นอกจากนี้ ยังเห็นชอบแนวทางขับเคลื่อนเป้าหมายกรุงเทพฯ ด้วยการวางกรอบ ระเบียบ และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ การเสริมสร้างศักยภาพ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสร้างเครือข่ายความร่วมมือทุกภาคส่วน” นายธานี กล่าว. – สำนักข่าวไทย