กรุงเทพฯ 29 ก.ย. – กรมชลประทานปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา เร็วกว่ากำหนด เดิมจะเพิ่มการระบายจาก 2,300 ลบ.ม./วินาที ในวันพรุ่งนี้ แต่เนื่องจากน้ำเหนือไหลลงมามากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงปรับเพิ่มตั้งแต่เวลา 11.00 น. เป็นต้นมา
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาอีกครั้ง เนื่องจากฝนตกชุกในพื้นที่ตอนบน ส่งผลให้มีน้ำเหนือไหลหลากลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช่วงสายวันนี้ที่สถานีวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,576 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาทีและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ได้แบ่งน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งเหนือเขื่อนเจ้าพระยา สู่คลองต่างๆ อย่างเต็มศักยภาพตามปริมาณที่จะรับได้ เนื่องจากในพื้นที่มีฝนตกหนักเช่นกัน แต่ปริมาณน้ำที่ไหลไปยังหน้าเขื่อนเจ้าพระยายังมากจนทำให้ระดับน้ำเกินเกณฑ์ควบคุมซึ่งกำหนดที่ 16.50 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
ดังนั้นตั้งแต่เวลา 11.00 น. จึงปรับเพิ่มการระบายจาก 2,300 ลบ.ม./วินาที เป็น 2,400 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำหน้าเขื่อน 17 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยจะควบอัตราการระบายให้ไม่เกิน 2,500 ลบ.ม./วินาทีเพื่อไม่ให้ระดับน้ำหน้าเขื่อนยกสูงเกินกว่านี้ ไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อหลายชุมชนพื้นที่เหนือเขื่อน ทำให้ระดับน้ำที่ท่วมขังอยู่สูงขึ้น
สำหรับการปรับเพิ่มการระบายครั้งนี้ เป็นการปรับเร็วกว่ากำหนด โดยเมื่อวานนี้ (28 ก.ย.) ได้ปรับจาก 2,100 ลบ.ม./วินาทีขึ้นเป็น 2,200 ลบ.ม./วินาทีและมีกำหนดปรับเพิ่มเป็นอัตรา 2,300-2,500 ลบ.ม./วินาทีในวันที่ 1 ต.ค. แต่เมื่อเวลา 23.00 น. คืนที่ผ่านมา ต้องปรับเพิ่มก่อนกำหนดเป็น 2,300 ลบ.ม./วินาที จากนั้นเวลา 11.00 น. วันนี้ปรับเพิ่มเป็น 2,400 ลบ.ม./วินาที รวมปรับ 3 ครั้งใน 2 วัน
อย่างไรก็ตามจะควบคุมปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านสถานี C.29A อ.บางไทร จ. พระนครศรีอยุธยาในเกณฑ์ไม่เกิน 3,000 ลบ.ม./วินาที ซึ่งลดเกณฑ์ควบคุมจากเดิมที่ 3,500 ลบ.ม./วินาทีตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดเพื่อความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ทั้งนี้ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกพื้นที่ติดตามสภาพอากาศเนื่องจากระยะนี้จะยังคงมีฝนตกจากพายุดีเปรสชัน “โนรู” และมีฝนตกต่อเนื่องจนถึงวันที่ 4 ต.ค. จากหย่อมความกดอากาศต่ำและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ แล้วให้นำผลคาดการณ์สภาพอากาศมาปรับแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสมและลดผลกระทบกับประชาชนให้มากที่สุด.-สำนักข่าวไทย