อิมแพ็ค เมืองทองธานี 15 ก.ย.- คลังย้ำกองทุนหมุนเวียนใช้เงินให้ตรงวัตถุประสงค์ หวังเงินนอกงบประมาณนับล้านล้านบาท ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวระหว่างเป็นประธานมอบรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่น ประจำปี 2564 ภายใต้ชื่องาน “สานต่อนโยบายรัฐ ต่อยอดเศรษฐกิจ สู่อนาคตวิถีใหม่” ว่า ทุนหมุนเวียนตั้งอยู่กับส่วนราชการต่างๆ 115 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินทั้งหมด 4.79 ล้านล้านบาท มีเงินหมุนเวียนนับล้านล้านบาท กองทุนขนาดใหญ่ เช่น กองทุน กบข. กองทุนประกันสังคม กองทุน กยศ. และกองทุนประเภทอื่น ตั้งขึ้นมาตามวัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการใช้เงินนอกงบประมาณ เช่น ทุนหมุนเวียนค่าเครื่องจักร กรมทางหลวง นำค่าผ่านทางมาใช้ขยายเส้นทางมอเตอร์เวย์ กองทุน กยศ. นำรายได้ชำระคืนของรุ่นพี่มาปล่อยกู้ให้กับรุ่นน้อง
ยอมรับว่า บรรดากองทุนเหล่านี้ บริหารกองทุนด้วยเงินนอกงบประมาณ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว และใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากมีเงินในกองทุนเกินภารกิจ เกินความจำเป็น กรมบัญชีกลางจะเรียกคืนกลับเข้าคลัง ในปีนี้เรียกคืนได้นับหมื่นล้านบาท จึงขอฝากการบ้านให้กับผู้บริการทุนหมุนเวียน และกองทุนต่างๆ ใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ และตรงตามวัตถุประสงค์ เพราะมีคณะกรรมการติดตามแผนดำเนินงาน และ สตง.คอยตรวจสอบบัญชี นับว่าทุนหมุนเวียนเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยขอให้ใช้เงินสนองนโยบายรัฐบาล และกระทรวงการคลัง
จึงขอให้กองทุนทุกประเภทปรับตัวดังนี้ 1. ทุนหมุนเวียน ต้องใช้เงินให้ตรงกับวัตถุประสงค์การตั้งกองทุน และรองรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เพื่อให้มีส่วนร่วมการลดปล่อย CO2 ทั้งทางตรงและทางอ้อม 2. การดูแลสังคมผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในกลุ่ม 608 เป็นกลุ่มเสี่ยง ในยุคต้องเผชิญกับโรคระบาด หากกองทุนไหนมีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องช่วยกันดูแล และคิดหาแนวทางดูแลผู้สูงอายุอย่างไร 3. การปรับตัวรองรับโลกยุคดิจิทัล เช่น โครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ให้บริการผ่าน “แอปฯ เป๋าตัง” นับว่าช่วยเหลือชาวบ้านได้ถึงตัว ได้รับเงินช่วยเหลือโดยตรง ดังนั้น กองทุนต่างๆ ต้องปรับตัวหันมาใช้ดิจิทัลในการให้บริการในโลกยุคออนไลน์
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า การมอบรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่น เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการพัฒนาทุนหมุนเวียนให้มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างมีมาตรฐาน ซึ่งจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนากลไก โดยเป็นการร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ประชาชน และประชาสังคม รวมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมการเข้าถึงระบบโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยสู่อนาคตวิถีใหม่.-สำนักข่าวไทย