กรุงเทพฯ 13 ก.ย.- กรมชลประทานเผยถึงสาเหตุน้ำท่วมในพื้นที่กทม. และปทุมธานีมาจากฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ ไม่ใช่การระบายน้ำเหนือผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ย้ำการรับน้ำเข้าระบบชลประทาน 2 ฝั่งเหนือเขื่อนเจ้าพระยาทำในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อทุ่ง 2 ฝั่งซึ่งมีฝนตกหนักเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะลุ่มน้ำท่าจีน มีน้ำที่ระบายจากทุ่งสองพี่น้องและบางปลาม้าลงสู่แม่น้ำท่าจีนเป็นปริมาณมาก ทำให้เอ่อท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรบริเวณที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า น้ำเหนือที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นทำให้ต้องระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาทเพิ่มให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำฝน-น้ำท่า ในการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมชลประทานใช้เขื่อนเจ้าพระยาเป็นเครื่องมือหลักในการหน่วงและระบายตามสถานการณ์ที่เหมาะสม ขณะที่น้ำส่วนเกินเร่งระบายออกทะเลตามที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ยืนยันว่า แม้จะมีฝนตกลงมาเพิ่มในช่วงปลายฤดูฝน รวมถึงอาจมีพายุ ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) และกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย 2 ลูกในเดือนกันยายนถึงตุลาคม แต่ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาคือ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ยังสามารถรับน้ำได้อีก 10,651 ล้านลูกบาศก์เมตร
ส่วนที่มีกระแสวิจารณ์ในโซเชียลมีเดียว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่ 4 เขื่อนมีไม่มาก ส่งผลให้ปริมาณน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาไม่มากเหมือนปีก่อนๆ แต่เหตุใดกรมชลประทานปล่อยน้ำลงคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ไม่แบ่งน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางฝั่งตะวันตกให้เข้าสู่แม่น้ำท่าจีน จึงทำให้มีน้ำท่วมขังในจังหวัดปทุมธานี กรมชลประทานยืนยันว่า น้ำที่ท่วมขังในจังหวัดปทุมธานีไม่ได้เกิดจากการระบายน้ำเหนือจากเขื่อนเจ้าพระยาลงมา แต่เพราะมีฝนตกหนักบริเวณลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะในจังหวัดปทุมธานีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันและในวันที่ 8 กันยายน ฝนตกหนักในจังหวัดปทุมธานีมากที่สุดในประเทศไทย ปริมาณฝน 24 ชั่งโมงที่วัดได้ที่สถานีประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์มากถึง 157 มิลลิเมตร ปริมาณฝนที่มากกว่า 100 มิลลิเมตรถือเป็นฝนตกหนักในเกณฑ์ที่จะส่งผลต่อการระบายน้ำ หากรวมปริมาณฝน 3 วันมากกว่า 300 มิลลิเมตร ส่งผลให้ระดับน้ำในคลองรังสิตประยูรศักดิ์สูงเกินระดับวิกฤติ เช่นเดียวกับในกรุงเทพฯ ที่ฝนตกหนักจนทำให้ระดับน้ำในคลองหลายๆ สายสูงเกินระดับวิกฤติ
ทั้งนี้แม่น้ำท่าจีนรับน้ำจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านประตูระบายน้ำพลเทพ จังหวัดชัยนาท บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตรา 20 ลบ.ม./วินาที แต่ที่ลุ่มน้ำท่าจีนมีฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้ระบายออกท้ายประตูระบายน้ำโพธิ์พระยาผ่านอำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี 175 ลบ.ม./วินาที แล้วมีน้ำที่ระบายออกจากทุ่งสองพี่น้องและบางปลาม้าจากฝนที่ตกลงมาไหลมารวมเป็น 320 ลบ.ม./วินาที ทำให้ปัจจุบันระดับน้ำท้ายประตูระบายน้ำโพธิ์พระยาอยู่ที่ 5.18 ม.รทก. ซึ่งเกินระดับควบคุมที่ 4.50 ม.รทก. น้ำจึงเอ่อท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ
ส่วนการรับน้ำเข้าสู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา รับผ่านประตูระบายน้ำมโนรมย์เข้าสู่คลองชัยนาท-ป่าสัก รับเพียง 41 ลบ.ม./วินาที แล้วไหลต่อไปยังแม่น้ำป่าสัก จากนั้นไหลผ่านประตูระบายน้ำพระนารายณ์สู่คลองระพีพัฒน์ตามลำดับ โดยกรมชลประทานควบคุมไม่ให้น้ำไหลต่อไปยังคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ด้วยการระบายผ่านประตูระบายน้ำพระศรีศิลป์และพระศรีเสาวภาคในอัตรา 3-5 ลบ.ม./วินาทีเท่านั้น
พร้อมกันนี้ยังย้ำถึงการผันน้ำเหนือเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำ 11 ทุ่งตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนของกอนช. ว่า เมื่อเกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้ว จะเตรียมพื้นที่ให้พร้อม แต่จะดำเนินการเป็นมาตรการสุดท้าย เนื่องจากการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาด้วยการใช้เขื่อนเจ้าพระยาเป็นเครื่องมือหน่วงและระบายน้ำเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ส่วนการระบายผ่านลำน้ำหลักเป็นเส้นทางที่สามารถระบายน้ำออกทะเลได้เร็วที่สุด แต่ขอให้ประชาชนในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างยังไม่ต้องเป็นกังวลเพราะกรมชลประทานจะควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาไม่เกิน 3,500 ลบ.ม./วินาทีซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 2,374 ลบ.ม./วินาที โดยปริมาณน้ำที่ไม่เกินเกณฑ์ 3,500 ลบ.ม./วินาทีจะไม่เกิดผลกระทบต่อกทม. และปริมณฑล
ส่วนที่กอนช. และกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์การเกิดพายุว่า ได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ โดยสั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่อยู่ตามเแนวร่องฝนและที่มีแนวโน้มว่า จะได้รับอิทธิพลจากพายุ โดยต้องบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำแบบพลวัต (Dinamic Operation Curve) ซึ่งต้องสอดคล้องกับการคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเนื่องจากต้องคำนึงการการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งด้วย
นายประพิศย้ำว่า การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ ต้องเป็นไปตามแนวทาง “ต้นเก็บ-กลางหน่วง-ปลายระบาย” คือ ต้นน้ำต้องเก็บน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำ กลางน้ำต้องหน่วงน้ำเพื่อไม่ให้น้ำเหนือไหลลงสู่ตอนล่างอย่างรวดเร็วเกินไปจนทำให้เกิดน้ำท่วม และปลายน้ำต้องเร่งระบายน้ำและพร่องน้ำในลำน้ำเพื่อรองรับน้ำจากพื้นที่ตอนบน
ดังนั้นในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เขื่อนหลัก 4 เขื่อนซึ่งอยู่ต้นน้ำทำหน้าที่เก็บกักน้ำ กลางน้ำมีเขื่อนเจ้าพระยาทำหน้าที่หน่วงน้ำ ขณะเดียวกันดำเนินทุกมาตรการเร่งระบายน้ำช่วงปลายน้ำออกสู่ทะเลได้แก่ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มที่สถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำต่างๆ ที่มีจุดเชื่อมต่อกับพื้นที่กทม. และปริมณฑลเสริมเพื่อเสริมศักยภาพ ที่คลองประเวศบุรีรมย์ บริเวณทางน้ำเข้า ด้านหน้าสถานีท่าถั่วจะขุดขยายเพื่อช่วยชักน้ำด้านเหนือน้ำให้เข้าสถานีสูบน้ำได้รวดเร็วยิ่งขึ้นซึ่งจะทำให้น้ำที่ระบายจากกทม. ลงสู่คลองประเวศน์บุรีรมย์ระบายออกสู่แม่น้ำบางปะกงได้เร็ว ส่วนคลองชายทะเลพร่องน้ำให้ต่ำกว่าเกณฑ์ควบคุมเพื่อรอรับน้ำที่ระบายลงมา แล้วใช้สถานีสูบน้ำบริเวณแนวคลองชายทะเล 9 แห่งที่มีศักยภาพการระบายน้ำรวมกันประมาณ 22.18 ล้านลบ.ม./วันเร่งระบายน้ำออก พร้อมให้เปิด-ปิดประตูระบายน้ำตามจังหวะการขึ้น-ลงของน้ำทะเล โดยอาศัยจังหวะที่น้ำทะเลลง เปิดบานระบายให้น้ำไหลได้สะดวก
นอกจากนี้ยังสนับสนุนเครื่องจักร-เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำเข้าช่วยเหลือทุกพื้นที่เพื่อลดกระทบของประชาชน.-สำนักข่าวไทย