กรุงเทพฯ 6 ก.ย.- กรมชลประทาน เตรียมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำบริเวณแก่งสะพือ เพิ่มอีก 50 เครื่อง จากที่ติดตั้งแล้ว 100 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำแม่น้ำมูลออกสู่แม่น้ำโขง เผยการระบายและพร่องน้ำตั้งแต่แม่น้ำชีลงมา ทำได้ตามแผน จึงเร่งระบายน้ำจากต้นแม่น้ำมูลลงมา ขณะเดียวกัน มีอุปสรรคจากแม่น้ำโขงยกตัว ทำให้ระบายออกได้ช้า ส่วนน้ำแม่น้ำเจ้าพระยามีแนวโน้มลดลง
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การระบายน้ำแม่น้ำชีเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ทำให้ระดับน้ำที่ จ.มหาสารคาม และยโสธร ลดลงจนต่ำกว่าตลิ่งแล้ว ส่วนเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ยังมีปริมาณน้ำเกินเกณฑ์ปฏิบัติการ คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำ จ.ขอนแก่น มีมติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คงการระบายที่อัตราไม่เกิน 25 ล้าน ลบ.ม./วัน จนถึงสิ้นเดือนตุลาคม เพื่อให้อ่างเก็บน้ำมีพื้นที่รองรับน้ำจากฝนที่จะตกลงมามากในเดือนกันยายน-ตุลาคม
แม่น้ำชีบรรจบกับแม่น้ำมูลที่ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี แต่ขณะนี้มีการระบายน้ำมูลผ่านเขื่อนราษีไศล จ.ศรีสะเกษ เพิ่มขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากภาวะน้ำล้นตลิ่งทั้ง 2 ฝั่งลำน้ำ เป็นผลให้ระดับน้ำแม่น้ำมูลที่ไหลผ่าน อ.วารินชำราบ และ อ.เมืองอุบลราชธานี สูงขึ้น ประกอบกับระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้ 15 เซนติเมตร เป็นอุปสรรคกับการระบายน้ำแม่น้ำมูลออกสู่แม่น้ำโขง โดยกรมทรัพยากรน้ำคาดว่า ระดับน้ำแม่น้ำโขงจะสูงขึ้นต่อเนื่องจนถึงวันที่ 10 กันยายนนี้
จากการตรวจวัดปริมาณน้ำแม่น้ำมูลไหลผ่านสถานีวัดน้ำ M.7 ในเขตเทศบาลอุบลราชธานี ระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้ 3 เซนติเมตร อยู่ที่ระดับ 111.63 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง หากเกินระดับ 112 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่ง บริเวณจุดฟันหลอที่ยังไม่ได้เสริมความสูงของพนังกั้นน้ำ กรมชลประทานจึงร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นเสริมกระสอบจุดฟันหลอ โดยในปี 2564 สามารถรับได้ถึงระดับ 112.74 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง พร้อมกันนี้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณวัดเสนาวงศ์ ฝั่ง อ.วารินชำราบ ประกอบด้วย เครื่องของกรมทรัพยากรน้ำ 1 เครื่อง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 3 เครื่อง และกรมชลประทาน 3 เครื่อง หากมีน้ำไหลลอดเข้าไป จะเร่งสูบกลับลงแม่น้ำมูล
สำนักงานชลประทานที่ 7 รายงานว่า เตรียมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มอีก 50 เครื่อง จากที่ติดตั้งแล้ว 100 เครื่องบริเวณแก่งสะพือ อ.พิบูลมังสาหาร แก่งสะพือเป็นแก่งหินที่เสมือนฝายธรรมชาติที่ทำให้ระบายน้ำไม่สะดวก จึงต้องใช้เครื่องผลักดันน้ำเร่งอัตราการไหล พร้อมกันนี้ยังติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฮโดรโฟล (Hydro Flo) ซึ่งมีขนาดท่อ 30 นิ้ว เพื่อเร่งระบายน้ำข้ามแก่งสะพือ
นายประพิศ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำแม่น้ำเจ้าพระยาว่า สามารถพร่องน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาได้ตามแผนที่กำหนดไว้ ปัจจุบันปริมาณน้ำเหนือที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาลดลง ทำให้อัตราน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์ มีแนวโน้มลดลง โดยวันนี้วัดได้ 1,483 ลบ.ม./วินาที ลดลงจากเมื่อวานนี้ ซึ่งอยู่ที่ 1,531 ลบ.ม./วินาที ส่วนน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 1,495 ลบ.ม./วินาที ลดลงจากเมื่อวานนี้ที่ 1,530 ลบ.ม./วินาที
ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 12 รายงานว่า จะอาศัยจังหวะที่น้ำเหนือไหลลด จึงลดระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาลงอีก จากที่กำหนดว่าให้อยู่ที่ระดับ 14.80 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยตั้งแต่บ่ายวันนี้จะทยอยลดให้อยู่ที่ 14.30 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำจากฝนที่ตกลงมาเพิ่มในเดือนกันยายน-ตุลาคม.-สำนักข่าวไทย