กรุงเทพฯ 1 ก.ย.- อธิบดีกรมชลประทานสั่งด่วน เร่งซ่อมฝายชั่วคราววังบัว กลางแม่น้ำปิง จ.กำแพงเพชร ชำรุดจากน้ำกัดเซาะ โดยจะนำหินขนาดใหญ่ถมปิดช่องขาดที่กว้าง 40 เมตร รวมถึงให้เร่งส่งน้ำเข้านาปีของเกษตรกรที่ไม่สามารถรับน้ำจากคลองส่งน้ำได้เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อผลผลิตที่กำลังจะเก็บเกี่ยว
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า สั่งการให้สำนักงานชลประทานที่ 4 และสำนักเครื่องจักรกลเร่งนำเครื่องจักรกลเข้าแก้ไขปัญหาเหตุน้ำแม่น้ำปิงกัดเซาะฝายชั่วคราววังบัว กั้นแม่น้ำปิงบริเวณจังหวัดกำแพงเพชร ได้รับความเสียหายเนื่องจากฝนตกชุกและปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ได้รับรายงานจากสำนักงานชลประทานที่ 4 ว่า ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีฝนตกชุกต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร รวมทั้งพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำปิงและแม่น้ำวัง โดยเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ที่สถานีวัดน้ำW.4A แม่น้ำวัง อ.สามเงา จ.ตาก มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 511.50 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลลงแม่น้ำปิง ที่สถานี P.7A อ.เมือง จ.กำแพงเพชร มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 477.90 ลบ.ม./วินาที จนทำให้ระดับน้ำไหลข้ามฝายชั่วคราววังบัว สูง 1.09 เมตร ประกอบกับสภาพลำน้ำด้านเหนือของฝายชั่วคราววังบัว มีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการตกตะกอนทับถมบริเวณด้านเหนือ ส่งผลต่อการไหลของน้ำผ่านสันฝายจนเกิดการกัดเซาะตัว ทำให้ฝายชั่วคราววังบัวบริเวณฝั่งตำบลเทพนคร อ.เมืองกำแพงเพชร ชำรุดเป็นช่องขาดประมาณ 40 เมตรเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565
ขณะนี้กำลังเร่งพิจารณาแนวทางในการซ่อมแซมระยะเร่งด่วนซึ่งเตรียมนำหินขนาดใหญ่ถมปิดช่องขาดเนื่องจากแม่น้ำปิงบริเวณดังกล่าวมีกระแสน้ำแรง จากนั้นจะปรับปรุงฝายในระยะยาว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังบัวและประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง
สำหรับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังบัว มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวรวมทั้งสิ้นประมาณ 425,841 ไร่ ปัจจุบันเก็บเกี่ยวแล้วประมาณ 278,054 ไร่ ยังคงเหลือพื้นที่ที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวอีกประมาณ 147,787 ไร่ คาดว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จทั้งหมดในกลางเดือนตุลาคม 2565 จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกรที่ได้ทำการเพาะปลูกข้าวนาปีและเก็บเกี่ยวแล้วขอให้งดการทำนาปีต่อเนื่อง หากจะดำเนินการปลูกข้าวต่อเนื่อง ให้พิจารณาวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำในแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่ของตนเองเป็นหลัก เพื่อลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้.-สำนักข่าวไทย