กรุงเทพฯ 24 ส.ค. – อธิบดีกรมชลประทานระบุ เดินหน้าตามแผนรับสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูน้ำหลากเดือนก.ย. -พ.ย. ที่อาจมีพายุจรเคลื่อนสู่ประเทศไทย เน้นบริหารจัดการน้ำต่อเนื่องตลอดลุ่มน้ำ “ต้นเก็บ-กลางหน่วง-ปลายระบาย” เพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัย ขณะเดียวกันเมื่อสิ้นสุดฤดูฝนต้องมีน้ำในอ่างเก็บน้ำเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้ง
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ได้ดำเนินการตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนในปี 2565 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมรับสถานการณ์ช่วงฤดูน้ำหลากระหว่างเดือนกันยายน-พฤศจิกายน ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงขณะนี้ ปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติซึ่งเป็นค่าเฉลี่ย 30 ปีย้อนหลังประมาณ 16% กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) คาดการณ์ว่า จะมีพายุเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยในเดือนกันยายน-ตุลาคมและมีทิศทางการเคลื่อนตัวผ่านพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือล่าง และภาคกลางตอนบน โดยคาดว่า จะส่งผลต่อปริมาณน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ขณะนี้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่อยู่ตามเแนวร่องฝนและที่มีแนวโน้มว่า จะได้รับอิทธิพลจากพายุ โดยบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำแบบพลวัต (Dinamic Operation Curve) ซึ่งต้องสอดคล้องกับการคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเนื่องจากคำนึงการเก็บกักน้ำให้มากที่สุด
สำหรับการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ เป็นไปตามแนวทาง “ต้นเก็บ-กลางหน่วง-ปลายระบาย” คือ ต้นน้ำต้องเก็บน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำ กลางน้ำต้องหน่วงน้ำเพื่อไม่ให้น้ำเหนือไหลลงสู่ตอนล่างอย่างรวดเร็วเกินไปจนทำให้เกิดน้ำท่วม และปลายน้ำต้องเร่งระบายน้ำและพร่องน้ำในลำน้ำเพื่อรองรับน้ำจากพื้นที่ตอนบน
นายประพิศกล่าวถึงสถานการณ์น้ำปัจจุบันว่า ปริมาณฝนบริเวณตอนบนของประเทศไทยลดลงจึงอาศัยจังหวะนี้เร่งระบายน้ำจากเขื่อนต่างๆ ได้แก่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และเขื่อนอุบลรัตน์ซึ่งมีน้ำเกินเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ พร้อมกันนี้กำลังพิจารณาปรับเพิ่มการระบายจากเขื่อนจุฬาภรณ์และเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลซึ่งปริมาณน้ำไหลเข้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แล้วพิจารณาปรับอัตราการระบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์และให้เกิดผลกระทบแก่ประชาชนน้อยที่สุด ขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ปรับเพิ่มการระบายเล็กน้อยเพื่อพร่องน้ำหน้าเขื่อนให้มีพื้นที่รองรับน้ำเหนือ ส่วนลุ่มน้ำชีและมูลติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพื่อเร่งระบายออกสู่แม่น้ำโขง
สำหรับการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานดำเนินการโดยใช้อาคารชลประทานและลำน้ำเป็นหลัก จึงกำชับให้กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำต่างๆ เพื่อให้สามารถระบายน้ำออกทะเลได้เร็วยิ่งขึ้นนอกจากนี้เตรียมระดมเครื่องสูบน้ำเพื่อนำไปติดตั้งพื้นที่ที่คาดว่า จะได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักปลายฤดู ตรวจสอบคันกั้นน้ำเพื่อเสริมความสูงและความแข็งแรง รวมถึงความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนทั้งในส่วนที่อยู่ในความดูแลและที่ถ่ายโอนไปแล้วเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด.-สำนักข่าวไทย