ลอนดอน 5 ต.ค. – การล่วงเกินหรือทำร้ายจิตใจผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์เป็นปัจจัยทำให้เด็กผู้หญิงเลิกใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ รวมถึงเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ โดยเกือบร้อยละ 60 เคยมีประสบการถูกล่วงละเมิด
ผลการสำรวจที่จัดทำโดยกลุ่มพิทักษ์สิทธิเด็กผู้หญิง แพลน อินเตอร์เนชั่นแนล แสดงให้เห็นว่า เด็กผู้หญิงและหญิงวัยรุ่น 1 ใน 5 คนเลิกใช้งานหรือลดการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์หลังจากตกเป็นเป้าหมายของการรังควาน โดยบางคนกล่าวว่า การล่วงละเมิดเริ่มเกิดขึ้นเมื่ออายุแค่เพียง 8 ปี การทำร้ายจิตใจส่วนใหญ่เกิดขึ้นในการใข้เฟซบุ๊ก โดยเด็กผู้หญิงร้อยละ 39 ที่ตอบแบบสำรวจกล่าวว่า พวกเธอโดนล่วงละเมิดในเฟซบุ๊ก อันดับสองคือ อินสตาแกรม ร้อยละ 23 วอทส์แอป ร้อยละ 14 สแนปแชต ร้อยละ 10 ทวิตเตอร์ ร้อยละ 9 และติ๊กต็อกร้อยละ 6
แพลน อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า การล่วงละเมิดที่เกิดขึ้นทำให้เด็กผู้หญิงไม่กล้าพูด ในขณะที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การสื่อสารออนไลน์มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ทางแพลน อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้บริษัทเจ้าของสื่อสังคมออนไลน์ลงมืออย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหา และขอให้รัฐบาลต่างๆ ผ่านกฎหมายเพื่อรับมือกับการล่วงละเมิดทางออนไลน์
ผลการศึกษาพบว่า วิธีการรายงานปัญหาใช้ไม่ได้ผลที่จะหยุดการล่วงละเมิด เช่น การใช้ถ้อยคำหยาบคาย รูปภาพโป๊เปลือย และการเฝ้าติดตามทางออนไลน์ บางคนถูกข่มขู่ใช้ความรุนแรงทางร่างกายและล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบทางด้านจิตใจ.-สำนักข่าวไทย