24 ก.ค. – จากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ (24 ก.ค.) ทางกองทัพบกระบุว่า กัมพูชาละเมิดอนุสัญญาเจนีวา รายงาน 9 ทันโลก พาไปติดตามว่า อนุสัญญาเจนีวาสำคัญอย่างไรกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
แม้ในยามสู้รบก็ยังต้องมีกฎเกณฑ์กติกา เพื่อไม่ให้การปะทะทางการทหารกระทบกับประชาชนพลเรือน จึงมีกฎหมายระหว่างประเทศต่างๆ มาปกป้อง ซึ่งวันนี้กองทัพไทยได้ประกาศชัดเจนว่ากัมพูชาใช้อาวุธหนักโจมตีเป้าหมายพลเรือนจึงเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้ เพราะละเมิดอนุสัญญาเจนีวา
อนุสัญญาเจนีวา ก่อกำเนิดจากบทเรียนเลวร้ายของมนุษยชาติ ในการทำสงครามสู้รบ ประหัตประหารกัน บุคคลผู้บริสุทธิ์ เจ้าหน้าที่การแพทย์ เชลยศึก และทหารผู้บาดเจ็บ ต้องเป็นอันตรายหรือเสียชีวิต ดังนั้น อนุสัญญาเจนีวา จึงเป็นกลไกหลักของกลุ่มกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ หรืออาจเรียกว่า กฎหมายสงคราม ที่มีหลักการสำคัญ คือ หลักการแบ่งแยกพลรบกับพลเรือน หลักการความได้สัดส่วน หลักการเตือนภัยก่อนการโจมตี หลักความจำเป็นทางทหาร หลักมนุษยธรรม
หลักการเหล่านี้เป็นการจำกัดผลกระทบและคุ้มครองบุคคลที่ไม่ได้เข้าร่วมในการสู้รบ นำมาซึ่งอนุสัญญาเจนีวา ที่ไทยกับอีกหลายประเทศได้เข้าร่วมเป็นภาคีเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 1949
โดยอนุสัญญาเจนีวา ประกอบด้วยชุดสนธิสัญญา 4 ฉบับ ได้แก่ 1.อนุสัญญาเจนีวาเพื่อให้ผู้บาดเจ็บและป่วยไข้ในกองทัพในสนามรบมีสภาวะดีขึ้น เพื่อคุ้มครองทหารบาดเจ็บหรือล้มป่วยในสนามรบทางบก 2. อนุสัญญาเจนีวาเพื่อให้ผู้สังกัดในกองทัพขณะอยู่ในทะเล ซึ่งบาดเจ็บ ป่วยไข้ และเรืออับปาง มีสภาวะดีขึ้น เพื่อคุ้มครองทหารบาดเจ็บและล้มป่วย รวมถึงผู้ประสบภัยเรืออับปางในสงครามทางทะเล 3.อนุสัญญาเจนีวาเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อเชลยศึก และ 4.อนุสัญญาเจนีวาเกี่ยวกับการคุ้มครองบุคคลพลเรือนในเวลาสงคราม หรือภายใต้การยึดครอง
เจตจำนงของอนุสัญญาเจนีวา สอดคล้องกับกฎหมายมนุษยธรรม คือ “การบรรเทาความทุกข์ทรมานของมนุษย์ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธ” กล่าวได้ว่า อนุสัญญาเจนีวาเป็นเครื่องมือเพื่อบังคับใช้กฎหมายมนุษยธรรมนั่นเอง
ดังนั้น การโจมตีเป้าหมายพลเรือนชาวไทย ย่อมเข้าข่ายการละเมิดอนุสัญญาเจนีวา ฉบับที่ 4 ว่าด้วยการคุ้มครองพลเรือน และพิธีสารเพิ่มเติม ที่ห้ามการโจมตีโดยตรง และไม่แยกแยะต่อเป้าหมาย พลเรือน การละเมิดหลักการเหล่านี้อาจเข้าลักษณะอาชญากรรมสงคราม เช่นในกรณีสงครามยูเครน ที่รัสเซียได้โจมตีเป้าหมายพลเรือนต่างๆ รวมถึงโรงละครในเมืองมาริอูโพล ซึ่งใช้เป็นที่หลบภัยในเวลานั้น การใช้อาวุธหนักกับพื้นที่ชุมชนพลเรือน ก็เข้าข่ายการละเมิดอนุสัญญาเจนีวา เนื่องจากมีผลกระทบต่อพลเรือน และทำลายทรัพย์สินสาธารณะ
การโจมตีที่ขัดกับอนุสัญญาเจนีวาอย่างชัดแจ้งมาก คือ การโจมตีโรงพยาบาล โดยกำหนดห้าม นอกจากว่าถูกนำไปใช้ทางการทหาร ถึงกระนั้นก็จะต้องออกคำเตือนล่วงหน้า ชัดเจนว่าโรงพยาบาลพนมดงรัก ไม่เข้าข่ายนี้ ในซีเรีย มีหลักฐานมากมายที่รัฐบาลเผด็จการได้จงใจโจมตีโรงพยาบาลในพื้นที่ฝ่ายกบฏมากมายหลายครั้ง เช่นเดียวกับในฉนวนกาซา จนแทบไม่เหลือโรงพยาบาลที่ให้บริการเต็มรูปแบบเหลืออยู่
ในพื้นที่ปะทะขณะนี้ยังเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินทางวัฒนธรรม แหล่งโบราณคดีได้รับการคุ้มครองตามหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศด้วย เมื่อเสียหายขึ้น ไม่ใช่เป็นการทำลายเพียงวัตถุ แต่เป็นการทำลายประวัติศาสตร์และความภาคภูมิใจของชนสองชาติ
ในอดีตเมื่อมีการละเมิดอนุสัญญาแล้วต้องแสวงหาความยุติธรรม ด้วยการชดเชยค่าเสียหายต่อความสูญเสียและการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น บุคคลที่รับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงครามจะต้องถูกค้นหา สอบสวน และดำเนินคดี โดยบังคับใช้กฎเกณฑ์ผ่านระบบกฎหมายภายในประเทศ ช่องทางทางการทูต หรือกลไกอื่นๆ ที่มีไว้สำหรับระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ เพราะไม่อาจยอมรับได้ที่มีการจงใจกระทำต่อชีวิตประชาชนที่ไม่ใช่เป้าหมายทางทหาร.-สำนักข่าวไทย