ยุโรป 4 มี.ค.- ยุโรป และสหรัฐ ยังคงเร่งรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ขณะที่ธนาคารโลกเตรียมอัดฉีดเงินช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาเพื่อรับมือกับไวรัส
ในฝั่งยุโรป อิตาลีถือว่าเป็นประเทศที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มากที่สุด นับตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา พบผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 แล้ว 79 ราย ติดเชื้ออีกกว่า 2,500 ราย สิ่งที่อิตาลีต้องการมากที่สุดตอนนี้คือ หน้ากากอนามัย ที่ไม่มีการผลิตในประเทศอิตาลีเลย ทำให้ต้องนำเข้าจากแอฟริกาใต้ 8 แสนชิ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากอิตาลีจำเป็นต้องใช้หน้ากากอนามัยมากถึง 10 ล้านชิ้น สำหรับผู้ที่ติดเชื้อและผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย
สำหรับข่าวที่ลือกันว่าสมเด็จพระสันตะปะปาฟรานซิส ประมุขคริสตจักรโรมันคาทอลิกติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น ทางสำนักวาติกันออกมาชี้แจงว่า พระองค์ทรงเป็นหวัดธรรมดาเท่านั้น ไม่ใช่ติดเชื้อโควิด-19
ด้านองค์การอนามัยโลก แสดงความกังวลถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในอิหร่าน พร้อมกับเตือนว่า การขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอิหร่าน จะยิ่งทำให้อิหร่านควบคุมการแพร่ระบาดได้ยากมากขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขอิหร่านทั้งระบบ จนถึงขณะนี้ อิหร่านมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 แล้ว 77 คน และมีผู้ติดเชื้อในเมืองต่างๆ ทั่วประเทศอีกกว่า 2,300 คน
สำหรับการแพร่ระบาดในสหรัฐ ตอนนี้พบการติดเชื้อใน 13 รัฐทั่วประเทศ มียอดผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 120 ราย เสียชีวิตอีก 9 ราย ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ต้องตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงถึงร้อยละ 0.5 ไปอยู่ที่ร้อยละ 1-1.25 จากความกังวลที่มากขึ้นว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส อย่างไรก็ดี นายเจอร์โรม พาวเวลล์ ประธานเฟดยืนกรานว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังแข็งแกร่ง แต่ก็ยากที่จะคาดเดาว่า การระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐมากน้อยแค่ไหน
ขณะเดียวกัน ธนาคารโลกรับปากจะให้เงินช่วยเหลือ 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 376,000 ล้านบาท แก่ประเทศกำลังพัฒนาในการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 โดยเงินช่วยเหลือก้อนนี้จะอยู่ในรูปของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เงินให้เปล่า และการให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค ท่าทีของธนาคารโลกมีขึ้นหลังผู้นำประเทศต่างๆ ทั่วโลกประกาศจะปกป้องเศรษฐกิจของประเทศ ที่จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19.-สำนักข่าวไทย