กรุงเทพฯ 15 ก.ค. – โฆษกรัฐบาล เผยนายกฯ เป็นห่วงหลังพบแนวโน้มพฤติกรรมป้องกันโควิดลดลง วอนประชาชน “อย่าการ์ดตก” สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ ขณะที่ WHO ชี้ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลกสูงขึ้น 30% ด้าน “หมอยง” เตือนโควิดระลอก 6 สูงสุดปลายเดือน ก.ค.-ส.ค.
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยข้อมูลการสำรวจอนามัยโพลของกรมอนามัย เปรียบเทียบระหว่างเดือนมิถุนายนและเดือนกรกฎาคม 2565 พบว่าประชาชนมีแนวโน้มพฤติกรรมการป้องกันโรคโควิด-19 ลดลง
โดยการเว้นระยะห่างลดลงจากจากร้อยละ 81.9 เป็นร้อยละ 78.7 การสวมหน้ากากในสถานที่สาธารณะ ลดลงจากร้อยละ 95.1 เป็นร้อยละ 94.8 และการล้างมือ ลดลงจากร้อยละ 89.7 เป็นร้อยละ 88.99
ขณะเดียวกันผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้โควิด-19 ยังไม่ถึงจุดสิ้นสุดการระบาด หลังช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นถึง 30%
ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงฝากเตือนประชาชนอย่าการ์ดตก เน้นปฏิบัติตามมาตรการของสาธารณสุข สวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่เสี่ยง เว้นระยะห่าง ล้างมือ และเข้ารับการฉีดวัคซีน เพื่อไม่ให้สถานการณ์กลับไปรุนแรงอีก ทกำชับกระทรวงสาธารณสุขติดตามและประเมินสถานการณ์ตลอดช่วงวันหยุดนี้อย่างใกล้ชิด
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 วันนี้ พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 1,795 คน เป็นผู้ป่วยในประเทศ 1,795 คน ไม่มีผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ เสียชีวิต 23 คน กำลังรักษาตัว 24,043 ราย หายป่วยกลับบ้านแล้ว 1,920 คน จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 789 คน
“หมอยง” เตือนโควิดระลอก 6 สูงสุดปลาย ก.ค.-ส.ค.
ด้าน นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เตือนโควิด-19 ระลอก 6 จะมีจุดสูงสุดปลายเดือนนี้ และตลอดเดือนสิงหาคม ก่อนจะลดลงในช่วงนักเรียนสอบและปิดเทอม
การระบาดของโควิด-19 รอบใหม่นี้ นับเป็นระลอกที่ 6 เป็นการระบาดด้วยสายพันธุ์โอไมครอน BA.5 จะมีจุดสูงสุดปลายเดือนนี้ และตลอดเดือนสิงหาคม เดือนหน้านักเรียน มหาวิทยาลัยจะเปิดเทอมหมด และจะเริ่มลดลงในช่วงนักเรียนสอบและปิดเทอม ทุกอย่างต้องเดินหน้า ด้วยมาตรการให้ความสำคัญในการลดการติดเชื้อ และจะไม่มีการ ปิดเมือง ปิดประเทศ ปิดโรงเรียนแล้ว ทุกอย่างมีความสำคัญกับอนาคตของประเทศ
จำนวนผู้ป่วยถ้าคิดเป็นสัดส่วนจะพบว่ามีผู้ป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลน่าจะอยู่ที่ประมาณ 10% หรือน้อยกว่า และมีอัตราการเสียชีวิตจะอยู่ที่ไม่เกิน 1% ของผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือน่าจะเป็น 0.1% หรือน้อยกว่าของผู้ที่ติดเชื้อ ซึ่งตัวเลขนี้กำลังลดลงไปใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากตามฤดูกาลของโรคทางเดินหายใจ เราจึงเห็นสัดส่วนของการนอนโรงพยาบาล และการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
ดังนั้น แม้จะมีผู้ป่วยเป็นหลักหมื่น หรือหลายหมื่น จะมีผู้เข้ารับการรักษาและแจ้งยอดให้กระทรวงสาธารณสุข จะอยู่ที่ 2,000 คน และมีการเสียชีวิต 20 คน อัตราการเสียชีวิต ในจำนวนนี้จะอยู่ที่ยอดผู้ป่วยติดเชื้อทั้งสิ้นหลายหมื่นคน ซึ่งสูงกว่าระลอกที่ 5 แน่นอน เพราะส่วนใหญ่จะไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย
อย่างไรก็ตาม กลุ่มเสี่ยงสูงควรได้รับวัคซีนให้เต็มที่เพื่อลดอาการ และถ้าติดเชื้อถึงแม้จะมีอาการน้อย ทันทีที่รู้ว่าติดเชื้อควรจะได้รับยาต้านไวรัส เพื่อการรักษาในทันที ให้เร็วที่สุด เพื่อลดการนอนโรงพยาบาล และเสียชีวิต
ติดโควิดต้องรักษาที่ไหน
กรมการแพทย์แนะวิธีเข้ารับการรักษาโรคโควิด ในแต่ละสิทธิการรักษา หากใช้สิทธิบัตทอง สามารถเข้ารับการรักษาได้ที่หน่วยบริการปฐมภูมิ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาล สถานพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้ และร้านขายยาในโครงการเจอ แจก จบ ตามนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่
สิทธิประกันสังคม รักษาที่สถานพยาบาลของรัฐและเอกชนทุกแห่ง คลินิกและร้านยาที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช.ทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนสิทธิข้าราชการ สามารถเข้ารับการรักษาได้ที่สถานพยาบาลของรัฐทุกแห่ง.-สำนักข่าวไทย