กรมขนส่งทางราง เปิดฤดูกาลขนส่งทุเรียนทางรางปี 68

ระยอง 8 พ.ค.- กรมขนส่งทางราง ปล่อยขบวนรถไฟขนส่งทุเรียนไปจีน เปิดฤดูกาลขนส่งทุเรียนทางรางปี 68 ขับเคลื่อนการขนส่งทางราง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลภาวะทางอากาศ


ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นประธานในพิธีปล่อยขบวนรถไฟขนส่งทุเรียนไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ สถานีรถไฟมาบตาพุด จังหวัดระยอง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ผู้แทนจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนในพื้นที่ภาคตะวันออก นำโดยบริษัท แพน-เอเชีย ซิลค์โรด จำกัด (PAS) และพันธมิตร รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นสักขีพยานในการปล่อยขบวนรถไฟเส้นทางมาบตาพุด–หนองคาย–จีน รวมระยะทางกว่า 1,750 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นการเปิดฤดูกาลขนส่งทุเรียนทางรางประจำปีอย่างเป็นทางการ และเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “DRT ขับเคลื่อนการขนส่งทุเรียนทางราง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลภาวะทางอากาศ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน”

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า กิจกรรมนี้ถือเป็นการต่อยอดจาก “โครงการศึกษาและจัดทำมาตรการกำกับดูแลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดมลภาวะทางอากาศในภาคขนส่งทางราง” ที่กรมการขนส่งทางรางได้ดำเนินการขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำผลการศึกษาจากโครงการมาประยุกต์ใช้จริงในเชิงนโยบายและปฏิบัติการ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของระบบรางในฐานะทางเลือกเชิงกลยุทธ์สำหรับการขนส่งสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าสูง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาในมิติด้านต้นทุน ความน่าเชื่อถือด้านเวลา ปริมาณการขนส่งต่อเที่ยว และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม


สำหรับ ทุเรียน ถือเป็นผลไม้ส่งออกที่มีมูลค่าสูงที่สุดของประเทศไทยและเป็นผลไม้ที่มีความต้องการสูงในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการส่งออกถึง 97% โดยในปี 2567 มีมูลค่าส่งออกทุเรียนสดและแช่แข็งรวมกว่า 157,506 ล้านบาท โดยเฉพาะทุเรียนสดที่มีมูลค่าสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2567 ถึงกว่า 4.3 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในปี 2568 ผลผลิตทุเรียนทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้นกว่า 37% จากปีก่อนหน้า คิดเป็นปริมาณรวมราว 1.767 ล้านตัน โดยแหล่งผลิตหลักอยู่ในภาคตะวันออก เช่น จังหวัดระยอง จันทบุรี และชุมพร ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อ GDP ภาคเกษตรและการจ้างงานในห่วงโซ่อุปทานทุเรียน โดยที่ผ่านมานั้นการขนส่งทุเรียนของไทยได้พึ่งพาการขนส่งทางถนนเป็นหลัก ทั้งที่การขนส่งทางถนนนั้นมีข้อจำกัดด้านต้นทุน เวลา และความเสี่ยงต่อคุณภาพของผลไม้

ในระยะหลังประเทศไทยหันมาปรับเปลี่ยนการขนส่งผลไม้และทุเรียนผ่านทางราง แทนการขนส่งทางถนนให้มากยิ่งขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในปี 2566 นั้น ปริมาณการขนส่งผลไม้ทางรางระหว่างไทยไปยัง สปป.ลาว มีปริมาณการขนส่งมากถึง 708 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือประมาณ 17,700 ตัน และในปี 2567 มีปริมาณการขนส่งผลไม้ทางรางจำนวน 1,108 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือประมาณ 27,700 ตัน ซึ่งถือได้ว่าปริมาณการขนส่งผลไม้ทางรางนั้นเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี โดยมีเส้นทางหลักในการขนส่งผลไม้ทางราง คือ เส้นทางจากมาบตาพุด – หนองคาย – ผ่าน สปป.ลาว ไปยังประเทศจีน ซึ่งการขนส่งทางรางในเส้นทางนี้นับเป็นก้าวแรกของการพัฒนาระบบรางให้รองรับผลไม้ไทยมูลค่าสูงอย่างเป็นระบบ ประกอบกับศักยภาพของเส้นทางนี้ซึ่งมีระยะทางรวมกว่า 1,750 กิโลเมตร ที่สามารถเชื่อมต่อโดยตรงสู่ตลาดจีนตอนใต้ เส้นทางรถไฟสายนี้จึงกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเชิงกลยุทธ์สำหรับผลไม้ไทย ไม่เพียงทุเรียนเท่านั้น แต่ยังรวมถึง มังคุด ลองกอง ลำไย และผลไม้เน่าเสียง่ายอื่นๆ ที่สามารถใช้ประโยชน์จากระบบรางในการลดระยะเวลาการขนส่งและรักษาคุณภาพสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ จากการศึกษาเปรียบเทียบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการขนส่งสินค้าทางถนนและทางราง พบว่า การขนส่งสินค้าทางถนนปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ย 2.71 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อตู้คอนเทนเนอร์ ขณะที่การขนส่งทางรางปล่อยเพียง 0.96 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ลดลงได้มากกว่า 64.6% ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ระบบรางเป็นทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า


หากเป้าหมายการขนส่งทุเรียนทางรางจำนวน 23,000 ตันในปี 2568 บรรลุผลสำเร็จ จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 1,610 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ใหม่เพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนกว่า 26,680 ตัน ซึ่งถือเป็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

“การส่งเสริมการขนส่งสินค้าทางราง โดยเฉพาะสินค้าเกษตรมูลค่าสูงอย่างทุเรียน ถือเป็นภารกิจสำคัญของกรมฯ ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) และแนวนโยบาย Net Zero Emissions ที่ประเทศได้ประกาศต่อประชาคมโลก โครงการนี้เป็นตัวอย่างของการนำผลการศึกษาทางวิชาการมาสู่การปฏิบัติจริง พร้อมกันนี้กรมฯ ยังอยู่ระหว่างการพัฒนามาตรการส่งเสริมและแรงจูงใจเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Modal Shift) จากถนนมาสู่ระบบรางในวงกว้างมากขึ้นในอนาคต” ดร. พิเชฐ กล่าว.-516-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

หนุ่มพาลูก-เมียกลับจากฉลองวันเกิด รถยางระเบิดเสียหลักชนเสาไฟ ดับ 3 สาหัส 2

พ่อแม่ลูก 5 คน กลับจากฉลองวันเกิด รถกระบะยางระเบิดเสียหลักหมุนชนอัดเสาไฟฟ้า พ่อและแม่พร้อมลูกคนโตเสียชีวิตคาที่ ส่วนลูกคนกลางและคนเล็กอาการสาหัส

สุดโหด! ไล่แทงหนุ่มดับปมขัดแย้งยาเสพติด

วงจรปิดจับภาพชัด คนร้ายวิ่งข้ามถนนไล่แทงหนุ่มเสียชีวิต ชาวบ้านแตกตื่น ขณะที่ตำรวจรวบตัวทันควัน คาดปมขัดแย้งยาเสพติด

กยศ.เปิดทางปรับลดยอดหักเงินเดือน พ.ค.-มิ.ย.68

กยศ. เปิดทางปรับลดยอดหักเงินเดือน ช่วยเหลือชั่วคราว พ.ค.-มิ.ย.68 ให้นายจ้างลดยอดการหักเงินเดือน ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อเริ่มผ่อนชำระใหม่เป็นรายเดือนในอัตราลดลง

ข่าวแนะนำ

ผู้เสียหาย 70 ราย ร้องสภาทนายฯ ถูกหอพักโหดเอาเปรียบ

ผู้เสียหาย 70 คน เข้าร้องสภาทนายความช่วยเหลือ หลังถูกเจ้าของหอพัก ย่านรังสิต เอาเปรียบ ข่มขู่กักขัง-ยึดทรัพย์ ด้านนายกสภาทนายความ ตั้งคณะทำงานช่วยเหลือทางคดี ทั้งแพ่ง-อาญา เชื่อมีผู้เสียหายเพิ่มอีก

คณะกรรมการแพทยสภา มีมติลงโทษ 3 แพทย์ เซ่นปม “ทักษิณ” รักษาตัวชั้น 14

คณะกรรมการแพทยสภา มีมติลงโทษแพทย์ 3 ท่าน เซ่นปม “ทักษิณ” รักษาตัวชั้น 14 รพ.ตำรวจ โดยว่ากล่าวตักเตือน 1 ท่าน พักใช้ใบประกอบวิชาชีพ 2 ท่าน เผยมติที่ประชุมมีความเห็น “เป็นเสียงส่วนใหญ่มาก มาก มาก”

นายกฯ มาเลเซีย ต่อสายคุย “แพทองธาร” ติดตามสถานการณ์ใต้

นายกฯ มาเลเซีย ต่อสายคุย “แพทองธาร” ติดตามสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้ แสดงความพร้อมร่วมมือกับไทยเพื่อยุติความรุนแรง พร้อมใช้เวทีอาเซียนสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสมาชิกมากขึ้น