สธ.26มี.ค.-สธ.แจงเหตุเสียชีวิตชาย 41 ปี สมุทรปราการ ไม่เกี่ยววัคซีนโควิด ตายด้วยหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ซึ่งเป็นโรคประจำตัวเดิม และเสียชีวิตห่างจากการรับวัคซีนถึง 10 วัน จึงถือเป็นเหตุบังเอิญร่วมเท่านั้น
นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 พร้อมด้วย นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ แถลงถึงกรณีการพบผู้เสียชีวิตจากการรับวัคซีนโควิด-19 ว่า ผู้เสียชีวิตรายนี้เป็นชายอายุ41ปี จ.สมุทรปราการ รับวัคซีนซิโนแวค เมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่าก่อนหน้าที่ชายคนดังกล่าวได้รับการผ่าตัดรักษาโรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง เมื่อมกราคม ที่ผ่านมา และมีการพักฟื้นในโรงพยาบาลอีก 40 วัน จากนั้นกลับมาบ้าน 1 สัปดาห์ ถึงได้ถูกตามตัวมาให้รับวัคซีน โดยระบบมีการติดตามเฝ้าระวัง “หมอพร้อม” ติดตามเป็นระยะตั้งแต่ 1วัน,3วัน ,7วัน และ 30 วัน โดยชายคนดังกล่าวเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 13 มีนาคม ห่างจากการฉีดวัคซีน 10 วัน
ทั้งนี้ เบื้องต้นจากการตรวจสอบข้อมูล พบว่า การเสียชีวิตของชายคนดังกล่าว ไม่น่าจะเกี่ยวกับการรับวัคซีนแต่เป็นเหตุบังเอิญร่วม (co-incident) โดยเสียชีวิตเพราะหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ท้องโป่งพองและแตก จึงได้เสียชีวิตลง รอให้คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาอย่างชัดเจนอีกครั้งอย่างเป็นทางการคาดทราบในสัปดาห์หน้า แต่คาดว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับวัคซีน เนื่องจากเป็นโรคเดิมของตนเอง ซึ่งจากการติดตามผู้รับวัคซีนในต่างประเทศ 1 ล้านคน พบคนแพ้วัคซีนแค่ 4 คนเท่านั้น
นพ.ทวี กล่าวว่า โรค หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองเปรียบเหมือนกับระเบิดเวลาที่จะรอแตกเมื่อไหร่ไม่รู้ หลอดเลือดแดงก็เหมือนกับท่อประปาขนาดใหญ่ที่ไหลไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ การที่เกิดการโป่งแตกนั้น เป็นเหตุบังเอิญร่วมไม่เกี่ยงกับวัคซีนแค่เป็นเหตุการณ์ร่วม เพราะจากการตรวจสอบวัคซีนที่มีการฉีดให้กับผู้รับวัคซีนทั้ง 40 คน ในวันเดียวกันพบว่า มีคนที่มีอาการปวด บวมแดง จากการรับวัคซีนแค่ 5 คน และไม่มีใครมีอาการรุนแรงเลย โดยผู้เสียชีวิตรายนี้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ด้วย อาการแน่นหน้าอก เวียนศีรษะ ดังนั้นจึงสรุปได้ร้อยละ 80-90 ว่า อาการร่วมที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่มาจากวัคซีนแน่นอน ทั้งนี้ ปัจจัยการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองแตกนั้น มีได้จาก สูงอายุ หลอดเลือดเสื่อมตามวัย , ไขมันในเลือดสูง .สูบบุหรี่ ขณะเดียวกันอัตราการเกิดหลอดเลือดโป่งพอง ในวัยเด็ก หรือ พิการแต่กำเนิดก็พบน้อยมาก
นพ.ทวี กล่าวว่า การจะรู้ว่าหลอดเลือดโป่งพองหรือไม่ต้องอาศัยการตรวจด้วยซีทีสแกนเท่านั้น การพิจารณาของอาการที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับวัคซีนหรือไม่ มีแพทย์หลายสาขาเข้าร่วม ทั้งแพทย์เชี่ยวชาญด้านหลอดเลือด และสาขาอื่นๆ ส่วนความกลัวหรือกังวลผลกระทบจากวัคซีนอยากให้มีการเปรียบเทียบถึงผลดีผลเสียของการรับก่อนตัดสินใจทั้งเรื่องการป้องกันโรค การป้องกันคนในครอบครัว ลดอัตราความรุนแรงของโรค ส่วนที่มีเพิ่งผ่านการผ่าตัดรักษาโรค ก็รอให้มีอาการนิ่งเสียก่อน อาจรับวัคซีนได้ ส่วนคนที่เคยมีประวัติแพ้วัคซีนอย่างรุนแรง. มักเกิดภายใน 15-30 นาที เพราะเปรียบได้กับสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในร่างกาย ทำให้เกิดใบหน้าบวมแดง ผื่นขึ้น ตรงนี้อันนี้ก็อาจพิจารณาไม่รับวัคซีนได้ .-สำนักข่าวไทย