กรุงเทพฯ 29 ก.ย.- อธิบดีกรมชลประทาน เผยระดมเครื่องผลักดันน้ำและเครื่องสูบน้ำ ติดตั้งเพิ่มในแม่น้ำมูล จ.อุบลราชธานี เร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำโขง วันนี้ระดับน้ำแม่น้ำมูลสูงกว่าเมื่อวานนี้ถึง 48 ซม. จากฝนที่หนักและตกแช่ ปริมาณฝนมากกว่า 100 มิลลิเมตร ขณะที่แม่น้ำโขงมีระดับสูงขึ้นด้วย ทำให้ระบายออกช้าลง ส่วนแม่น้ำชี ล้นตลิ่งเกือบตลอดลำน้ำ
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ระดับน้ำแม่น้ำมูลที่สถานีวัดน้ำ M.7 อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี วันนี้อยู่ที่ 114.21 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง สูงกว่าเมื่อวานนี้ถึง 48 เซนติเมตร เนื่องจากมีฝนตกหนักจากพายุ “โนรู” ซึ่งเข้าสู่ประเทศไทยทางอำเภอโขงเจียมเย็นวานนี้
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่า เมื่อพายุโซนร้อน “โนรู” เข้าถึงไทย ได้อ่อนกำลังและเคลื่อนที่ช้าลง ฝนจึงทั้งตกหนักและตกแช่ โดยปริมาณฝนทุกพื้นที่ในจังหวัดอุบลราชธานีมากกว่า 100 มิลลิเมตร ส่งผลให้ลำน้ำมูลซึ่งมีปริมาณน้ำมากอยู่แล้ว มีน้ำมาเติมอีก
แม้อิทธิพลของพายุจะหมดในวันพรุ่งนี้ (30 ก.ย.) แต่คาดการณ์ว่าฝนจะตกต่อเนื่องจนถึงวันที่ 4 ต.ค. ประกอบกับระดับน้ำแม่น้ำโขงสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้การระบายออกเริ่มช้าลง กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประเมินสถานการณ์ว่า ระดับน้ำลำน้ำมูลที่สถานีวัดน้ำ M.7 จะสูงกว่าตลิ่งถึง 2.50 เมตร ในวันที่ 4 ต.ค.นี้
ดังนั้นจึงระดมเครื่องผลักดันน้ำ 200 เครื่อง มาติดตั้งในลำน้ำมูลเพิ่มเติม จากเดิมที่ติดตั้งไว้ที่บริเวณสะพานพิบูลมังสาหารแล้ว 140 เครื่อง ขณะนี้ทยอยขนย้ายมาถึง จึงสั่งให้สำนักงานชลประทานที่ 7 เร่งติดตั้งที่สะพานโขงเจียม อำเภอโขงเจียมซึ่งเป็นพื้นที่สุดท้าย ก่อนน้ำมูลจะไหลลงสู่แม่น้ำโขง รวมถึงติดตั้งเครื่องสูบน้ำขับเคลื่อนด้วยระบบไฮดรอลิกเสริมอีก 9 เครื่องเพื่อสูบน้ำข้ามแก่งสะพือที่เป็นจุดน้ำวน ไหลช้า
นายประพิศกล่าวว่า การเร่งระบายน้ำลำน้ำมูลให้ออกแม่น้ำโขงโดยเร็ว เป็นมาตรการสำคัญในการบรรเทาอุทกภัยในจังหวัดอุบลราชธานี เนื่องจากน้ำในลุ่มน้ำชีและมูลซึ่งมีพื้นที่คิดเป็น 2 ใน 3 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจุดระบายออกเพียงจุดเดียวคือ ที่อำเภอโขงเจียม น้ำที่ระบายจากลุ่มน้ำชีและมูลทั้งหมดจึงมารวมกันที่จังหวัดอุบลราชธานี ปีใดที่มีฝนมากหรือพายุเข้าโดยตรงจึงเกิดผลกระทบรุนแรงต่อจังหวัดอุบลราชธานี
พร้อมกันนี้ย้ำให้นำมาตรการบริหารจัดการน้ำในปี 2562 ซึ่งเป็นปีน้ำมากและเกิดน้ำท่วมในจังหวัดอุบลราชธานี มาเป็นต้นแบบเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัย จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ส่วนที่ลุ่มน้ำชี มีน้ำล้นตลิ่งเกือบตลอดลำน้ำ สำนักงานชลประทานที่ 6 แขวนบานระบายของเขื่อนกั้นน้ำทุกเขื่อน รวมถึงเดินเครื่องผลักดันน้ำเพื่อให้ไหลลงสู่ลำน้ำมูลโดยเร็ว ย้ำให้ป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชนเมือง ด้วยการปิดประตูระบายน้ำทุกแห่งและติดตั้งเครื่องสูบน้ำเสริมเพื่อสูบระบายออกเต็มกำลัง
นอกจากนี้ยังกำชับให้ติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่นซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แจ้งว่า จะเต็มความจุในวันที่ 1 ต.ค. นี้ ทำให้ต้องระบายน้ำเพิ่มจากวันละ 25 ล้าน ลบ.ม. เป็น 35 ล้าน ลบ.ม. น้ำที่ระบายออกจากเขื่อนจะมาเติมในลำน้ำพอง แล้วไหลลงสู่ลำน้ำชี จึงต้องเฝ้าระวังใกล้ชิดและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อพื้นที่ท้ายเขื่อนให้ได้มากที่สุด.-สำนักข่าวไทย