กรุงเทพฯ 12 ก.ย. – อธิบดีกรมชลประทาน เผยกำลังเร่งติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในคลองรังสิตประยูรศักดิ์อีก 8 เครื่อง บริเวณจุดตัด (ไซฟ่อน) คลองประปา เพื่อให้สามารถระบายน้ำจากคลองออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเร็วขึ้น ส่วนที่สถานีสูบน้ำเปรมใต้ เร่งเดินเครื่องสูบน้ำต่อเนื่อง เพื่อระบายน้ำจากคลองเปรมประชากรออกสู่คลองรังสิตประยูรศักดิ์ บรรเทาผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมขังในพื้นที่ กทม.
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สั่งการให้สำนักเครื่องจักรกล นำเครื่องผลักดันน้ำไปติดตั้งในคลองรังสิตประยูรศักดิ์อีก 8 เครื่อง เสริมจากที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 9 เครื่อง รวมเป็น 20 เครื่อง และเสริมด้วยเครื่องสูบน้ำ ขับด้วยระบบไฮดรอลิก (Hydro Flo) 2 เครื่อง และเครื่องผลักน้ำ 6 เครื่อง ที่สถานีสูบน้ำกึ่งถาวรปากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ เพื่อเร่งระบายออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แต่เนื่องจากมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ทำให้ระดับน้ำในคลองยังสูง จึงเสริมเครื่องผลักดันน้ำอีก 1 จุด จำนวน 8 เครื่อง บริเวณจุดตัด (ไซฟ่อน) คลองประปา เพื่อเพิ่มอัตราการไหลของน้ำให้ไปสู่สถานีสูบน้ำปากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งนายเอนก ก้านสังวอน ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล รายงานว่า จะสามารถติดตั้งและเดินเครื่องได้ในเย็นวันนี้
สำหรับสถานการณ์น้ำคลองรังสิตประยูรศักดิ์ เช้าวันนี้ (12 ก.ย.) ได้รับรายงานจากนายชุติมันต์ สกุลพราหมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 ว่า จากการตรวจวัดที่สถานีสูบน้ำปากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ พบว่า ระดับน้ำในคลองอยู่ที่ 1.95 ม.รทก. ขณะที่ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ 1.90 ม.รทก. ซึ่งต่ำกว่าระดับน้ำในคลอง จึงเปิดบานประตูระบายน้ำ เพื่อให้น้ำไหลได้สะดวก โดยเดินเครื่องสูบน้ำ 12 เครื่อง เดินเครื่องสูบน้ำ Hydro flo ขนาด 2 ลบ.ม./วินาที 2 เครื่อง รวมอัตราการสูบ 68 ลบ.ม./วินาที รวมถึงเดินเครื่องผลักดันน้ำ 5 เครื่อง
ขณะที่สถานีสูบน้ำจุฬาลงกรณ์ ระดับน้ำคลองรังสิตประยูรศักดิ์อยู่ที่ 1.65 ม.รทก. ส่วนระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา (ด้านซ่อมสร้าง) อยู่ที่ 2.25 ม.รทก. จึงเปิดบานระบาย โดยเดินเครื่องสูบน้ำ 11 เครื่อง รวมอัตราการสูบ 78 ลบ.ม./วินาที
นายประพิศ กล่าวถึงการช่วยระบายน้ำจาก กทม. ซึ่งมีฝนตกต่อเนื่อง จนทำให้ระดับน้ำในคลองเปรมประชากรสูงขึ้นจนล้นตลิ่ง กรมชลประทานเดินเครื่องสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำเปรมใต้ 3 เครื่อง รวมอัตราการสูบ 9 ลบ.ม./วินาที และสูบอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดระดับน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ซึ่งเป็นการบรรเทาผลกระทบของชาว กทม. โดยกรมชลประทานประสานงานกับ กทม. เรื่องการระบายน้ำอยู่ตลอดเวลา.- สำนักข่าวไทย