รัฐสภา 9 ม.ค.- สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เห็นชอบรายงานปฏิรูปการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เสนอแก้ไขข้อบังคับ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หวังควบคุมและตรวจสอบรัฐทุกมิติ
การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. เป็นประธานการประชุม ก่อนการเข้าสู่วาระการพิจารณา ประธานแจ้งเรื่องการถึงแก่อนิจกรรมของพ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย สมาชิก สปท. และสมาชิกยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 1 นาที เพื่อเป็นการไว้อาลัย พร้อมหารือกับที่ประชุม เรื่องการบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ โดยมีมติให้หักเงินเดือนสมาชิกคนละ 5,000 บาท สมาชิกบางรายจึงเสนอให้สำรองจ่ายเงินไปก่อนจำนวน 1 ล้านบาท โดยมอบหมายให้ นายเสรี สุวรรณภานนท์ และ พล.ต.ท.สุวิระ ทรงเมตตา เป็นผู้ดำเนินการ เพื่อนำเงินดังกล่าวให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนตามลำดับความสำคัญ
จากนั้นเข้าสู่วาระการพิจารณารายงานการปฏิรูปเรื่อง การควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง โดยมีนายวันชัย สอนศิริ กรรมาธิการ ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปการควบคุมและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ชี้แจงรายงานว่า เป็นการตรวจสอบอำนาจรัฐทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ ผ่านกลไกตามรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย การควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐผ่านระบบรัฐสภา องค์กรตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระและกระบวนการยุติธรรม รวมถึงการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยประชาชน บางข้อเสนอสามารถปฏิรูปโดยแก้ไขข้อบังคับการประชุม หรือแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญได้
สำหรับการควบคุมและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐผ่านระบบรัฐสภา ประกอบด้วย การตั้งกระทู้ถาม การอภิปรายไม่ไว้วางใจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเปิดอภิปรายทั่วไปของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และรัฐสภา ตลอดจนการเสนอญัตติด้วย โดยการตั้งกระทู้ถามนั้น กรรมาธิการ เห็นว่า ที่ผ่านมา ส.ส.ส่วนใหญ่มักจะหยิบยกเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของตนเอง มุ่งหวังเพื่อหาเสียงหรือสร้างผลงานมากกว่าตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ อีกทั้งยังไม่มีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนในการตอบกระทู้และติดตามผลการดำเนินงานตามกระทู้ถาม คณะกรรมาธิการฯ จึงเสนอให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองกระทู้ถามในทั้ง 2 สภา เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองให้คำแนะนำในกระทู้ถามที่เสนอโดยสมาชิก ส.ส. และ ส.ว. รวมถึงต้องกำหนดระยะเวลาอย่างชัดเจน สำหรับการตอบกระทู้ของนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีที่ได้รับหมอบหมาย โดยมีมาตรการลงโทษที่ชัดเจน ในกรณีที่รัฐบาลไม่สามารถตอบกระทู้ได้ในเวลาที่กำหนด
นายวันชัย ยังกล่าวถึงการปฏิรูปการควบคุมและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐผ่านองค์กรตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และกระบวนการยุติธรรม เรื่องปัญหาของกระบวนการได้มาและสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า ที่มาของคณะกรรมการสรรหาตามบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ ได้กำหนดสัดส่วนให้คณะกรรมการสรรหามาจากฝ่ายการเมืองเพียง 2 คน ทำให้โอกาสของจำนวนคะแนนเสียงในการสรรหาจำนวน 7 คน ใน 9 คน อาจจะมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้การสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และกรรมการในองค์กรอิสระทุกองค์กรมีแนวโน้มที่ถูกจำกัดในบางกลุ่มเท่านั้น จึงควรกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดคณะกรรมการสรรหากรรมการในองค์กรอิสระในแต่ละองค์กร เพื่อป้องกันไม่ให้กำหนดตัวบุคคลไว้ล่วงหน้า อีกทั้งต้องกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาบุคคลให้เกิดความชัดเจน
ในส่วนของบทลงโทษผู้ที่กระทำผิดในคดีทุจริตคอร์รัปชัน เสนอให้ปรับเปลี่ยนอัตราการลงโทษ คดีที่สร้างความเสียหายมูลค่าเกิน 100 -1,000 ล้านบาท ให้จำคุกตลอดชีวิต และคดีที่สร้างความเสียหายเกิน 1,000 ล้านบาทจะต้องถูกประหารชีวิต เพื่อเป็นการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐให้เกิดประสิทธิภาพ
ขณะที่สมาชิก สปท.ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับข้อเสนอ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า รายงานมีความเกี่ยวโยงกับหลายคณะกรรมาธิการ อาทิ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการปกครองท้องถิ่น คณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ จึงเห็นว่า ควรพิจารณาเรื่องนี้ร่วมกับคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ครอบคลุมทุกประเด็น นอกจากนี้การพิจารณาคดีทุจริตคอร์รัปชันในปัจจุบัน มีลักษณะซ้ำซ้อน ทำให้เกิดความล่าช้าในการพิจารณา จึงควรกำหนดกรอบการทำงานของแต่ละองค์กรให้มีความชัดเจน
จากนั้น ที่ประชุมจึงมีมติเอกฉันท์เห็นชอบรายงานฉบับนี้ ด้วยคะแนนเสียง 155 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง โดยคณะกรรมาธิการฯ จะนำกลับไปแก้ไขตามข้อเสนอแนะของสมาชิกและจะส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการต่อไป.-สำนักข่าวไทย